ประธานชมรม รพศ./รพท. เผยเห็นด้วยทุกประเด็นแก้กฎหมายบัตรทอง ย้ำมีปัญหาจริงทั้งโรงพยาบาลขาดทุนและค่าใช้จ่ายไม่สะท้อนต้นทุน จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายโดยยึดหลัก “ประชาชนไม่เสียสิทธิและโรงพยาบาลอยู่ได้”
นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล
นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้ความเห็นถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าเห็นด้วยทุกประเด็น หากไม่ทำให้ประชาชนเสียสิทธิและช่วยให้โรงพยาบาลสามารถอยู่ได้ โดยเฉพาะการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับโรงพยาบาลขนาดเล็ก ทำให้มีสถานะการเงินที่คล่องตัวมากขึ้น
นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า ประเด็นที่เห็นตรงกันคือเรื่องที่ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบที่มีประโยชน์กับคนไทยอย่างมาก ทำให้เข้าถึงบริการได้มากขึ้นและลดการล้มละลายจากการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่ามีบางเรื่องที่ยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะ 2 ประเด็นใหญ่คือ
1.เป็นความจริงที่ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีภายใต้กฎหมายฉบับนี้ มีโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งมักจะพบในกลุ่มโรงพยาบาลขนาดเล็กที่รับผิดชอบประชากรน้อยกว่า 40,000 คน ซึ่งมีกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากรายรับของโรงพยาบาลผูกติดเงินเหมาจ่ายรายหัวตามจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ เมื่อประชากรน้อยก็มีรายรับน้อย และเมื่อหักค่ายา ค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินเดือนบุคลากรแล้ว ก็จะเหลือเงินสำหรับการดูแลคนไข้น้อยลง
“แล้วในโรงพยาบาล 500 แห่งนี้ ยังมีโรงพยาบาลที่ดูแลประชากรน้อยกว่า 20,000 คนกว่า 150 แห่งซึ่งเมื่อหักเงินเดือนออกแล้วแทบไม่เหลือเงินในการทำงาน นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับก่อน” นพ.ธานินทร์ กล่าว
ส่วนประเด็นที่ประเด็นที่ 2. เงินที่จ่ายให้หน่วยบริการไม่สะท้อนต้นทุนอย่างที่ควรเป็น ตัวอย่างเช่นผู้ป่วยใน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายในอัตรา RW ละ 7,000-8,000 บาทมานานกว่า 10 ปีโดยไม่เคยปรับเปลี่ยนเลย หรือกรณีทำคลอดมีค่า RW อยู่ที่ 0.2 หรือเพียง 1,400 บาท เมื่อหักเงินเดือนออกแล้ว โรงพยาบาลอาจเหลือรายรับไม่ถึง 1,000 บาทต่อการคลอดหนึ่งคน
“ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็มีข้อกำหนดว่าการกำหนดค่าใช้จ่ายแก่โรงพยาบาลให้สะท้อนต้นทุน แต่การจะสะท้อนต้นทุนได้ก็ต้องมีการศึกษาข้อมูล ซึ่งเท่าที่ผมจำได้เคยมีการศึกษาต้นทุนบริการเพียงครั้งเดียวประมาณปี 2547-2548 หลังจากนั้นก็ไม่เคยทำอีก” นพ.ธานินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทักท้วงว่าการเอางบเหมาจ่ายรายหัวไปให้กับหน่วยงานที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ทำให้หน่วยบริการได้เงินน้อยลงและผิดวัตถุประสงค์ เรื่องนี้ก็เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามีปัญหาด้านการบริหารจัดการภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จึงจำเป็นต้องแก้ไข
“ผมคิดว่าถ้าทุกคนมองเรื่องนี้เหมือนกันว่าระบบนี้เป็นระบบที่ทำให้ประชาชนได้บริการที่ดีแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ ถ้าเราตั้งต้นว่าต้องคงสิทธิประโยชน์ของประชาชนไว้ ส่วนที่เป็นปัญหาก็ต้องแก้และการแก้หลักๆ ก็คือทำให้โรงพยาบาลอยู่ได้ ผมไม่คิดว่าโรงพยาบาลอยากจะอยู่แบบนี้ แต่อยากหายใจได้คล่องขึ้น จะได้เอาแรงกายแรงใจไปทำงานให้ประชาชน ประชาชนก็จะได้รับงบรายหัวเท่ากันทั้งประเทศ” นพ.ธานินทร์ กล่าว
สำหรับประเด็นเรื่องสัดส่วนตัวแทนผู้ให้บริการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ถกเถียงกันอยู่นี้ ส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ ที่ผ่านมาตัวแทนผู้ให้บริการจริงๆ มีเพียงปลัดกระทรวงสาธารณสุขแค่คนเดียว และไม่ได้เป็นผู้ให้บริการที่หน้างานจริงๆ การมีตัวแทนผู้ให้บริการจริงๆ เข้าไปสะท้อนปัญหา จะทำให้คณะกรรมการได้ฟังความคิดเห็นรอบด้านและทำให้การดำเนินงานของกองทุนเป็นไปอย่างสมดุล
“ผมคิดว่าถ้าเรายอมรับว่าสิทธิของประชาชนต้องไม่ลดลง ขณะเดียวกันก็สามารถแก้ปัญหาให้โรงพยาบาลอยู่ได้ ถ้าตั้งต้นแบบนี้คิดว่าคุยกันได้ เสียดายที่การประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา ทางภาคประชาชนรู้สึกว่ามีส่วนร่วมน้อยและเนื้อหาที่ปรับแก้ก็อาจทำให้เข้าใจเจตนารมณ์ในการแก้ต่างกันออกไป อีกทั้งไม่มีโอกาสได้มานั่งคุยกัน แต่เชื่อว่าความคิดเห็นที่ทาง สช.รวบรวมส่งให้คณะกรรมการร่างกฎหมาย น่าจะช่วยทำให้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายให้ออกมาบรรลุวัตถุประสงค์คือประชาชนไม่เสียสิทธิและโรงพยาบาลอยู่ได้” นพ.ธานินทร์ กล่าว
- 58 views