กรมควบคุมโรค เผย 10 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการพิจารณาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอย่างรอบคอบ เพื่อผลประโยชน์สำหรับเด็กไทยและยึดผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก ชี้ดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยอย่างรอบคอบ ภายใต้คำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับระดับชาติและนานาชาติ พร้อมเชิญชวนผู้ปกครองนำเด็กหญิง ป.5 เข้ารับบริการวัคซีนเอชพีวี เดือนสิงหาคมนี้
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนเอชพีวี จะฉีด 2 เข็มห่างกัน 6 เดือนในเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 แสนคนทั่วประเทศ โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือนสิงหาคม 2560 นี้ ส่วนข้อกังวลที่ว่าวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ น่าจะดีกว่าชนิด 2 สายพันธุ์ นั้น ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนทั้ง 2 ชนิดให้ผลในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกไม่แตกต่างกัน และสามารถใช้ทดแทนกันได้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ส่วนสายพันธุ์ 6 กับ 11 ที่บรรจุอยู่ในวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์นั้น เป็นการป้องกันโรคหูดที่อวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในกลุ่มชายรักชาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการป้องกันมะเร็งปากมดลูกแต่อย่างใด
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือเอชพีวี จะช่วยลดความสูญเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีการตรวจอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งวัคซีนดังกล่าว ผ่านการศึกษาความปลอดภัย คุ้มค่า คุ้มทุน มาแล้วอย่างรอบคอบ
ทั้งนี้การดำเนินการบรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ และเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานในรูปแบบคณะกรรมการระดับชาติ โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้วางแผนดำเนินการมาหลายปีที่ต้องการให้เด็กได้วัคซีน เพื่อหวังผลป้องกันมะเร็งปากมดลูกในอีก 20-30 ปีข้างหน้า
โดยนับตั้งแต่ปี 2551 คณะกรรมการฯ ได้เริ่มนำวัคซีนนี้มาพิจารณา แต่ในระยะแรกยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะวัคซีนมีราคาแพงเข็มละกว่า 1,000 บาท และมีข้อกังวลเรื่องประสิทธิผลและความคุ้มทุน ทำให้ไม่สามารถจัดหาได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค มีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งประกอบด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ได้กลั่นกรอง ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะด้านวิชาการเกี่ยวกับวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งเสนอทางเลือกด้านนโยบายมาโดยตลอด ต่อมาเมื่อปี 2557 ภายหลังได้มีการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในประเทศไทย ซึ่งพบว่าให้ผลดี สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก กรมควบคุมโรคจึงได้เดินหน้าเพื่อให้มีการบรรจุวัคซีนนี้เข้าไปในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย โดยให้มีการต่อรองราคาและนำเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของ สปสช. และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ
นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอวัคซีนทั้ง 2 ชนิด เพื่อเข้าเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ (ชนิด 4 สายพันธุ์ และชนิด 2 สายพันธุ์) ซึ่งพิจารณาแล้วให้ผลในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกไม่แตกต่างกัน และสามารถใช้ทดแทนกันได้ ตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการฯ และองค์การอนามัยโลก แต่ต่อมามีการนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติเพียงชนิด 4 สายพันธุ์เท่านั้นตามระเบียบ สปสช.ที่ต้องเลือกใช้ยาเพียงตัวเดียว (Choose only one) เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทที่เข้าข่าย Choose only one มีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นทำให้ขาดการแข่งขันตามกลไกทางการตลาด ซึ่งคณะกรรมการต่อรองราคายาระดับชาติ ก็ไม่สามารถต่อรองให้ราคาวัคซีนถูกลงได้ต่ำกว่า 375 บาทต่อโด๊สได้
ดังนั้นเพื่อผลประโยชน์ของทางราชการ ทางคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ จึงได้ทำการพิจารณาอีกครั้ง แล้วจึงนำวัคซีนเอชพีวีทั้งสองชนิดเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากเป็นกลุ่มเดียวกันและได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกแล้วว่า สามารถใช้ทดแทนกันได้ ทั้งนี้เพื่อให้มีบริษัทเข้าร่วมในการเสนอราคามากกว่าหนึ่งราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี ด้วยเหตุนี้องค์การเภสัชกรรม และกรมควบคุมโรคจึงทำการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคา จากราคาที่คณะกรรมการยาหลักแห่งชาติ กำหนดไว้ที่ราคา 375 บาท ทำให้จัดซื้อได้ที่ราคา 279 บาท จึงทำให้ประหยัดงบประมาณ ของประเทศได้ 36.8 ล้านบาท และได้วัคซีนที่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยได้
หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 15 views