ผอ.รพ.บ้านหมอ เปิดโมเดลโรงพยาบาลประชารัฐอำนวยความสะดวกคนจนได้รับบริการดี ระบุ มีสถานบริการพร้อมเอาด้วยแล้ว 38 แห่ง
นพ.ธนะวัฒน์ วงค์ผัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านหมอ จ.สระบุรี กล่าวถึงแนวความคิดการดำเนินการโรงพยาบาลประชารัฐ ตอนหนึ่งว่า แนวคิดโรงพยาบาลประชารัฐเริ่มต้นจากปัญหาคนในชนบทที่ไม่ค่อยมีฐานะ ได้รับบริการด้านสุขภาพจากภาครัฐที่ฟรีแต่ไม่ค่อยดี มีความล่าช้า ซึ่งแตกต่างกับการรับบริการจากภาคเอกชนที่สะดวกรวดเร็วแต่มีราคาแพง ตรงนี้จึงต้องหาจุดร่วมและเกิดเป็นโครงการโรงพยาบาลประชารัฐเพื่อให้ประชาชนคนจนได้รับบริการที่ดีและรวดเร็ว
สำหรับโครงสร้างของโรงพยาบาลประชารัฐ มีการร่วมกันลงทุนจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.ภาครัฐ ที่จัดสรรงบประมาณมาสร้างตึกเป็นอาคารพิเศษให้กับแต่ละโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย 2.ภาคประชาชน จะมีการร่วมบริจาคเงินวันละ 3 บาท เฉลี่ยแล้วคนละ 1,000 บาทต่อปี 3.ภาคเอกชน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการ แต่บางบริษัทไม่สามารถจัดระบบจ้างงานให้กับผู้พิการได้ จึงนำงบประมาณส่วนนี้มาจ้างผู้พิการให้กับองค์กรสาธารณกุศลแทน อาทิ โรงพยาบาล
นพ.ธนะวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อได้ครบ 3 องค์ประกอบแล้ว ก็สามารถเปิดโรงพยาบาลประชารัฐได้ โดยจะมีการจัดสร้างห้องพิเศษจำนวน 20 ห้อง รวม 40 เตียง รองรับประชากรได้ประมาณ 1 หมื่นคน ฉะนั้นประชาชนผู้ที่บริจาคเงินวันละ 3 บาท ก็จะได้สิทธิการใช้ห้องพิเศษได้ฟรีในยามเจ็บป่วย ทำให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นในราคาที่ไม่แพง
นพ.ธนะวัฒน์ กล่าวว่า จริงๆ แต่ละอำเภอมีประชากรอยู่ตั้งแต่ 3 หมื่นคน ถึง 1แสนคน แต่เมื่อคำนวณจากฐาน 1 หมื่นคน บริจาคปีละ 1,000 บาท โรงพยาบาลก็จะได้เงินปีละ 10 ล้านบาท เงินเหล่านี้จะถูกใช้ไปกับ 1.จ่ายค่าธรรมเนียมในการพักห้องพิเศษตามระเบียบของราชการที่กองทุนนี้จะเข้ามาจ่ายให้ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ทางการเงินของโรงพยาบาลที่เข้าขั้นวิกฤตดีขึ้นได้ เพราะคาดว่าจะมีการใช้เงินในส่วนนี้ประมาณปีละ 6-7 ล้านบาท
2.เงินอีกส่วนหนึ่งประมาณ 1 ล้านบาท จะถูกใช้ไปเป็นทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนระดับมัธยมในพื้นที่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เช่น อาจส่งเรียนแพทย์ พยาบาล และเมื่อเรียนจบแล้วก็กลับมาดูแลประชาชนในท้องถิ่นของตัวเองภายใต้โรงพยาบาลประชารัฐแห่งนี้
3.ในส่วนของประชาชนที่ไม่มีเงินบริจาคปีละ 1,000 บาท เงินจากกองทุนนี้ประมาณ 1 ล้านบาท ก็จะถูกใช้ไปพัฒนาห้องผู้ป่วยปกติในอาคารเดิมให้ดีขึ้น และเงินส่วนที่เหลืออีกก็จะถูกนำไปใช้เป็นทุนการก่อสร้างอาคารอื่นๆ ต่อไป หรือหากนำเงินที่เหลือจากแต่ละอำเภอ 7-10 มารวมกัน ก็อาจจะนำไปเปิดตึกใหม่ที่โรงพยาบาลจังหวัดได้ เมื่อคนไข้จากแต่ละอำเภอถูกส่งต่อมาก็จะใช้บริการในห้องพิเศษเหล่านี้ได้
4.สร้างวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา คือโรงพยาบาลอาจจะให้พันธุ์กล้วยแก่ผู้บริจาค 1,000 บาท กลับไป เขาก็นำไปปลูก ในปีต่อมาเขาอาจไม่ต้องจ่ายเป็นเงิน 1,000 บาทแล้ว แต่จ่ายเป็นกล้วยที่มีมูลค่า 1,000 บาทแทน กล้วยเหล่านี้ก็จะถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาล หรืออาจจะให้ลูกหมูกลับไปเลี้ยง ซึ่งตอนที่โรงพยาบาลให้ไปอาจมีมูลค่า 200-300 บาท แต่เมื่อเขาเลี้ยงโตอาจมีมูลค่า 3,000-5,000 บาทต่อตัว ตรงนี้ก็จะเกิดความยั่งยืน เพราะโรงพยาบาลก็จะได้รับซื้อผลผลิตเกษตรปลอดสารพิษด้วย
“ตอนนี้มีโครงการโรงพยาบาลประชารัฐที่เริ่มแล้ว ได้แก่ โรงพยาบาลน้ำพอง กับโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น คือเราได้ตึกแล้ว และมีคนร่วมบริจาคแล้วประมาณ 2,000 คน” นพ.ธนะวัฒน์ กล่าว
นพ.ธนะวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการดำเนินโครงการขณะนี้มีโรงพยาบาลขอเข้าร่วมแล้ว 38 แห่ง โดยจะแบ่งโครงการออกเป็น 3 ระยะ 1.โรงพยาบาลที่อยากจะทำแต่ขาดเงินสำหรับปรับปรุงสภาพห้องพิเศษให้ดี ซึ่งคิดว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สามารถสนับสนุนงบประมาณให้เริ่มดำเนินการได้ภายใน 3-4 เดือน เบื้องต้นมีโรงพยาบาลในระยะที่ 1 ประมาณ 18 แห่ง
2.โรงพยาบาลที่ยังไม่มีอาคารก็ต้องเขียนของบประมาณไป ซึ่งมีประมาณ 20 แห่ง ต้องการการสนับสนุนแห่งละ 50 ล้านบาท ซึ่งโรงพยาบาลบ้านหมออยู่ในระยะนี้ 3.การขยายโครงการออกไปทั่วประเทศ
- 219 views