สภาเภสัชกรรมเผยวิกฤตขาดแคลนเภสัชกรหนัก มีในระบบราชการไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่ควรมี จี้รัฐบาลให้ความสำคัญแก้ปัญหา ระยะสั้นกำหนดอัตราตั้งใหม่ข้าราชการ 316 อัตราในปีงบประมาณ 2560 ส่วนระยะยาวบรรจุปีละ 1,602 คนติดต่อกัน 10 ปี
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ 19 สถาบัน ในนามของสภาเภสัชกรรมและศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย แถลงข่าวเรื่อง “จำนวนเภสัชกรที่จำเป็นสำหรับการดูแลการใช้ยาให้ประชาชน” ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2560 ที่ผ่านมา
ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2560 นี้รัฐบาลไม่ได้อนุมัติอัตราบรรจุข้าราชการสำหรับวิชาชีพเภสัชกร โดยบอกเพียงให้ไปเตรียมข้อมูลเสนอเพิ่มเติม ซึ่งทางสภาเภสัชกรรมได้ทำการศึกษาภาพรวมจำนวนความต้องการเภสัชกรในระยะ 10 ปีแล้ว พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนเภสัชกรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ถึง 50% ของจำนวนที่ควรมี โดยปี 2559 มีเภสัชกรในสังกัด สธ. เพียง 7,743 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 1 คนต่อประชากร 10,000 คน จากอัตรากำลังที่ควรมีคือ 17,128 คน หรือ 2.8 คนต่อประชากร 10,000 คน
ภก.นิลสุวรรณ กล่าวว่า ตัวเลขการขาดแคลนเภสัชกรดังกล่าว ทำให้เกิดความเสี่ยงในด้านยาแก่ประชาชน เนื่องจากมีแต่เภสัชกรจ่ายยา แต่ขาดกำลังคนที่จะติดตามดูแลการใช้ยาของประชาชน ปัญหาที่ที่ตามมาที่เห็นได้ชัดก็เช่นปัญหาเชื้อดื้อยา การใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล เป็นต้น
ขณะที่ผลการศึกษาความต้องการเภสัชกรในระยะ 10 ปีข้างหน้าจนถึงปี 2569 นั้น พบว่าประเทศไทยมีความต้องการบรรจุเภสัชกรถึงปีละ 1,602 คน ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี รวมทั้งหมด 16,018 คน คิดเป็นสัดส่วน 3.7 คนต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้คำนวณจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ภาระงานจากนโยบายต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น อาทิ การดำเนินงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ การส่งเสริมแพทย์แผนไทย ตลอดจนการคุ้มครองผู้บริโภคจากยาและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ฯลฯ
“ปัญหาของเภสัชกรก็เหมือนกับพยาบาล คืองานเพิ่มขึ้น มันก็ต้องเพิ่มกำลังคนให้เหมาะสมตามไปด้วย แต่ทุกวันนี้จำนวนเภสัชกรก็ยังมีไม่ถึงครึ่งของความต้องการ ปกติมีการบรรจุราชการปีละ 350 คน แต่ปีนี้ไม่อนุมัติ ก็อยากให้ สธ.และรัฐบาลทบทวนมุมมองเสียใหม่ ให้ความสำคัญกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้มากกว่านี้” ภก.นิลสุวรรณ กล่าว
นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวอีกว่า ข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนเภสัชกร แบ่งเป็น 2 ระยะประกอบด้วย
1.ระยะสั้น การแก้ปัญหาในปีงบประมาณ 2560 ขอให้ สธ.เสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดอัตราตั้งใหม่ข้าราชการตำแหน่งเภสัชกร จำนวน 316 อัตรา และใช้อัตราว่างอีก 34 อัตรา ส่วนเภสัชกรที่อยู่ในระบบการจ้างของ สธ. ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง พนักงานสาธารณสุข พนักงานของรัฐ ทั้งหมดของทุกกรมจำนวนไม่ต่ำกว่า 383 คนก็ขอให้บรรจุเป็นข้าราชการ
2.ระยะยาว 10-20 ปี ขอให้ สธ.วางแผนกรอบอัตรากำลังในปี 2569 จำนวน 24,774 ตำแหน่ง และบรรจุเภสัชกรเพิ่มปีละ 1,602 ในระยะเวลา 10 ปี และขอให้กำหนดให้เภสัชกรต้องมีการศึกษาต่อยอด วุฒิบัตร หนังสืออนุมัติ ในสาขาเภสัชบำบัด คุ้มครองผู้บริโภค และสมุนไพร จำนวน 2,000 คนในระยะเวลา 20 ปี
ทั้งนี้ นายกสภาเภสัชกรรมจะเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อมูลและข้อเสนอแนะด้วยตัวเองที่กระทรวงสาธารณสุขระหว่างวันที่ 19-21 มิ.ย.2560 นี้ และอาจจะพิจารณาเข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ด้วย เพื่อให้ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรและเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
ด้าน ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ ประธานศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในแง่ของจำนวนเภสัชกรที่จะมาดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยถือว่าวิกฤติมาก ปัจจุบันยังขาดแคลนกำลังคนที่จะติดตามปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วย ดังนั้นเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนเภสัชกรได้อย่างเป็นรูปธรรม ทางสภาเภสัชกรรมขอเสนอมาตรการดังนี้
1.สธ.ร่วมกับสภาเภสัชกรรม พิจารณาจัดทำแผนพัฒนางานและนวัตกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพระบบยาและงานบริบาลเภสัชกรรม
2.ตั้งคณะทำงานพิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเสนอให้คณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สธ. สภาเภสัชกรรม คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ราชวิทยาลัย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล วิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย วิทยาลัยคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาล และชมรมเภสัชกรสาธารณสุข
- 531 views