ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดชี้ สหรัฐอเมริกาติดกลุ่มประเทศประสบปัญหาความความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลระหว่างคนรวยและคนจนรุนแรงที่สุด
เว็บไซต์วอชิงตันโพสต์โดย Carolyn Y. Johnson รายงานเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ถึงผลสำรวจระหว่างปี 2554-2556 จากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 22,500 ดอลลาร์ (ราว 764,325 บาท) พบว่า ร้อยละ 38 ของผู้ตอบสอบถามรายงานว่ามีปัญหาสุขภาพหรือมีสุขภาพไม่สู้ดี อันเป็นตัวเลขที่สูงกว่าถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่าปีละ 47,700 ดอลลาร์ (ราว 1.62 ล้านบาท) ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 12 ที่รายงานว่ามีปัญหาสุขภาพหรือสุขภาพไม่ดีนัก
แม้ผู้มีรายได้สูงโดยทั่วไปมักมีสุขภาพดีกว่าผู้มีรายได้น้อย แต่สถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในสหรัฐฯ กลับอยู่ในภาวะรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเป็นรองเพียงชิลีและโปรตุเกสจากการศึกษาในประเทศรายได้สูงและรายได้ปานกลางรวม 32 ประเทศ
เป็นที่น่าสนใจว่าการศึกษาโดย ดร.โยอาคิม ฮีโรและคณะนี้มีขึ้นก่อนที่หลายนโยบายหลักในกฎหมาย Affordable Care Act (ACS) จะมีผลบังคับใช้ และจากที่กฎหมาย ACA มุ่งเน้นการกระจายรายได้โดยเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อสมทบค่ารักษาพยาบาลสำหรับคนจน ทำให้คณะผู้วิจัยพบว่าความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การลดความคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาลตามกฎหมาย ACA จะกลายเป็นการพาสหรัฐฯ ถอยหลังเข้าคลองไปสู่วังวนปัญหาเดิม
ในท่ามกลางสถานการณ์ที่นโยบายสุขภาพที่เน้นขยายความคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาลกำลังกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เอง มีบทวิเคราะห์โดยสำนักงบประมาณสภาคองเกรสคาดการณ์ว่า ร่างกฎหมายสุขภาพซึ่งพรรครีพับลิกันคาดหวังจะดันเข้ามาแทนที่กฎหมาย ACA จะทำให้ตัวเลขชาวอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพพุ่งขึ้นไปอีกราว 23 ล้านคนภายในปี 2569
ด้าน ดร.ฮีโรเตือนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรหันไปเน้นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายสุขภาพแทนที่จะมุ่งไปที่การส่งเสริมประกันสุขภาพ เนื่องจากผลการเปรียบเทียบระหว่างการมีประกันสุขภาพและไม่มีประกันสุขภาพบ่งชี้ว่ามีผลต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“ประกันสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ประเด็นหลักครับ” ดร.ฮีโรเผย “หากเราต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลของสหรัฐฯ ให้อยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศรายได้สูงก็จำเป็นที่เราจะต้องมองให้ไกลกว่าการประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง”
การศึกษาวิจัยโดย ดร.ฮีโร พบว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนไม่ได้จำกัดวงอยู่เฉพาะสถานะสุขภาพที่ผู้ตอบแบบสอบถามรายงานเท่านั้น หากแต่สหรัฐฯ ยังรั้งใกล้อันดับสูงสุดในแง่ความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลแม้ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จากการสำรวจพบว่าฟิลิปปินส์รั้งตำแหน่งอันดับหนึ่งด้านความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนซึ่งไม่สามารถเอื้อมถึงการรักษา ตามมาด้วยสหรัฐฯ ซึ่ง 1 ใน 5 ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยไม่ได้รับการรักษาพยาบาลเนื่องจากไม่มีค่ารักษา ตรงข้ามกับชาวอเมริกันในกลุ่มรายได้สูงซึ่งมีอัตราส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลเพียง 1 ต่อ 25 รายเท่านั้น
ผลสำรวจยังสร้างความฉงนแก่ผู้วิจัยในแง่ความตื่นตัวของชาวอเมริกันต่อปัญหาการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล เนื่องจาก 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามชี้ว่าชาวอเมริกัน “จำนวนมาก” ไม่ได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น แต่ขณะเดียวกันชาวอเมริกันส่วนใหญ่กลับไม่ได้มองว่าการที่คนรวยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีกว่านั้น “ไม่ยุติธรรม” หรือ “ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง”
“การที่ผลสำรวจออกมาขัดแย้งกันทำให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในประเทศหรือไม่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นซึ่งประชาชนต่างได้รับบริการอย่างทั่วถึง” ดร.ฮีโรทิ้งท้าย
แปลและเรียบเรียงจากบทความ America is a world leader in health inequality By Carolyn Y. Johnson : washingtonpost.
- 164 views