กระทรวงสาธารณสุข เผยการนำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (เอชพีวี) เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ 2 ชนิด เพื่อการแข่งขันเสรี ป้องกันการผูกขาดในอนาคต หวังผลป้องกันมะเร็งปากมดลูกในสตรี ชี้ประหยัดงบประมาณได้ถึง 36.8 ล้านบาท และประสิทธิภาพวัคซีนไม่แตกต่างกัน
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนเอชพีวี นั้น กระทรวงสาธารณสุข ขอชี้แจงดังนี้
1.คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคยืนยันว่าวัคซีนทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกไม่แตกต่างกัน และสามารถใช้ทดแทนกันได้
2.การเสนอวัคซีนเอชพีวี ชนิด 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ เข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยการเสนอของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในการจัดซื้ออย่างเสรีได้โดยไม่ผูกขาด เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่ต้องการให้เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมในการเสนอราคาของผู้ขายมากกว่า 1 ราย
และ 3.การบรรจุวัคซีนทั้ง 2 ชนิดในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นไปตามมติของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ในการจัดซื้อวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกครั้งนี้ ได้มีผู้ขายเสนอราคา 2 รายและสามารถต่อรองราคาเหลือ 279.537 บาทต่อโด๊ส ซึ่งเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมค่าจัดส่งวัคซีนแล้ว ช่วยให้กระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม ประหยัดงบประมาณในจัดหาวัคซีนรวมกว่า 36.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาที่คณะทำงานต่อรองราคาภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้ต่อรองวัคซีนเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์ 375.48 บาทต่อโด๊ส ซึ่งหวังผลป้องกันมะเร็งปากมดลูกในสตรี ในการดำเนินการได้คำนึงถึงความคุ้มค่า และประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
ด้าน นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยประมาณร้อยละ 70-75 คือสายพันธุ์ 16 และ 18 เช่นเดียวกันกับในต่างประเทศ ในขณะนี้วัคซีนเอชพีวี มี 2 ชนิด คือชนิด 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18) และชนิด 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 16 และ 18) แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก เกิดจาก 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ18
สำหรับการเลือกวัคซีนเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก จึงสามารถเลือกใช้ได้ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (เอชพีวี) ทั้งชนิด 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เท่ากัน และวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ในต่างประเทศก็ยังมีการใช้อยู่ ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้วัคซีนเอชพีวีชนิด 2 สายพันธุ์ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 29 ประเทศ เช่น สก็อตแลนด์ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี สเปน เม็กซิโก แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ 16 และ18 ได้ประมาณร้อยละ 90-100 ในผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
ประเทศไทยจะนำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก(เอชพีวี) มาใช้ทั่วประเทศในระยะอันใกล้นี้ และวัคซีนชนิดนี้สามารถเริ่มให้ได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี สำหรับประเทศไทยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแนะนำให้ฉีดในเด็กหญิงที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.5 ซึ่งถือเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการได้รับวัคซีนและสอดคล้องตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน
หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉ สธ.แทรกแซงการคัดเลือกวัคซีน HPV เข้าบัญชียาหลัก
ชี้ต่อรองราคาวัคซีน HPV ล้มเหลว ถูกแทรกแซง ได้ของแพงกว่า สายพันธุ์น้อยกว่า
เริ่มฉีดวัคซีน HPV นักเรียนหญิง ป.5 ส.ค.นี้ สธ.ยันผ่านการศึกษาคุ้มทุนแล้ว
- 247 views