อดีตบอร์ด สปสช.แฉกระทรวงสาธารณสุขแทรกแซงการคัดเลือกวัคซีน HPV ดันชนิด 2 สายพันธุ์เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติแม้ไม่ผ่านการคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบยา ตั้งข้อกังขาจะไว้ใจให้คุมกลไกจัดซื้อต่อรองราคายาได้หรือไม่
นายนิมิตร์ เทียนอุดม
นายนิมิตร์ เทียนอุดม อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีการแทรกแซงการบรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นตัวอย่างอันดีที่สะท้อนถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหากให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้รวมศูนย์จัดซื้อและต่อรองราคายา และเกิดเป็นคำถามว่าจะไว้ใจให้อำนาจการจัดซื้อยาราคาแพงและยาจำเป็น อยู่ในการดูแลของ สธ.ได้หรือไม่
นายนิมิตร์ กล่าวว่า วัคซีน HPV ที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมี 2 บริษัท บริษัทแรกมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อได้ 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6,11,16,18) และอีกบริษัทมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อได้ 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 16,18) โดยในปี 2559 ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเตรียมพิจารณาบรรจุวัคซีน HPV เข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจากการศึกษาของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ทำการศึกษาความคุ้มค่า ประสิทธิภาพและราคาแล้วพบว่าวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์มีความคุ้มค่ามากกว่า
ทั้งนี้ หลังจากได้ผลการศึกษามาแล้ว คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้ให้ทั้ง 2 บริษัทนี้เข้ามาเสนอรายละเอียดข้อมูลความสำคัญ ความจำเป็น พร้อมกับราคาวัคซีนให้พิจารณา โดยทั้ง 2 บริษัทได้เสนอราคาต่อประธานคณะทำงานต่อรองราคาเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2559 จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาในห้วงเวลาพร้อมๆ กันและพบว่าชนิด 4 สายพันธุ์เสนอราคามาต่ำกว่าแบบ 2 สายพันธุ์
ด้วยเหตุนี้ คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติจึงมีมติเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2559 เลือกวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ให้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ
“ก็เท่ากับชนิด 2 สายพันธุ์ก็ตกไป เพราะพิจารณาพร้อมกันแถมยังเสนอราคามาแพงกว่า หลังจากนั้นก็เดินหน้าประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พ.ย. 2559 ว่าวัคซีน HPV ที่จะอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นชนิด 4 สายพันธุ์” นายนิมิตร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เตรียมดำเนินการจัดซื้อวัคซีนในราคาที่ต่อรองได้แล้วนั้น ก็มีหนังสือสั่งการจากกระทรวงสาธารณสุขในเดือน ธ.ค.2559 ให้ระงับการจัดซื้อ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความเป็นธรรมควรและไม่ให้เกิดการผูกขาด ควรเอาอีกบริษัทเข้ามาด้วย อีกทั้งยังมีหนังสือขอให้คณะอนุกรรมการฯ บรรจุวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย
“กรรมการพิจารณามาอย่างรอบคอบแล้วทั้งประสิทธิภาพและราคา เขาถึงเลือกแค่ 1 รายแต่อยู่ๆ ก็ใช้อำนาจสั่งการลงมาว่าต้องมีอีก 1 ชนิดอยู่ในบัญชียาหลัก คณะกรรมการก็ยืนยันมติเดิมอยู่หลายเดือน ทำหนังสือตอบไป 2 รอบ จนกระทั่งยืนไม่ไหวถึงต้องประกาศแก้ไขให้ยกเลิกประกาศเดิม โดยมีคำสั่งให้เพิ่มวัคซีนแบบ 2 สายพันธุ์เข้ามาอีกชนิดในวันที่ 28 เม.ย.2560 และประกาศฉบับนี้ให้เลือกซื้อวัคซีนที่จัดซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า โดยอ้างเหตุผลเรื่องธรรมาภิบาลและการแข่งขัน” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้การจัดซื้อวัคซีนก็ต้องให้ทั้ง 2 บริษัทเข้ามาเสนอราคาใหม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือบริษัทที่ขายวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ได้ตัดราคาลงเพราะรู้แล้วว่าวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ขายในราคาเท่าใด
“จริงๆ มันต่อรองราคามาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มีการแข่งขันอยู่แล้ว ผมเลยยกประเด็นว่าถ้าเราเอากลไกการต่อรองราคาไปไว้ที่ สธ. เรื่องแบบนี้มันมีแนวโน้มเกิดขึ้น แล้ววัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ โดยทั่วไปในโลกนี้กำลังทยอยเลิกใช้ มันก็ดัมป์ราคาได้ เหมือนเอาขยะมาขายให้เรา” นายนิมิตร์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ มีรายงานว่า นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในหนังสือที่ สธ 0465.3/1023 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2560 ถึงประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง ทบทวนความเหมาะสมของการระบุจำนวนสายพันธุ์ของวัคซีนเอชพีวีในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยอ้างถึงหนังสือกรมควบคุมโรคที่ สธ 0465.3/6473 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ใจความสรุปว่า ตามที่หนังสือกรมควบคุมโรคได้ขอให้คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติทบทวนการระบุจำนวนสายพันธุ์ของวัคซีนเอชพีวีในบัญชียาหลักแห่งชาติว่า การระบุ 4 สายพันธุ์เพียงชนิดเดียวอาจทำให้เกิดข้อจำกัดในการบริหารและจัดหาวัคซีนที่ราคาถูกกว่า ไม่เปิดโอกาสแข่งขัน และคณะอนุกรรมการฯ ตอบกลับว่า มีมติคัดเลือกวัคซีนเอชพีวี 4 สายพันธุ์เท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขขอเสนอให้ทบทวนความเหมาะสมของการระบุจำนวนสายพันธุ์ หากระบุ 4 สายพันธุ์ชนิดเดียว อาจทำให้เกิดข้อจำกัดในการจัดหาวัคซีนในอนาคตได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สธ.แจงนำวัคซีน HPV เข้าบัญชียาหลักทั้ง 2 ชนิดเพื่อป้องกันการผูกขาด
ชี้ต่อรองราคาวัคซีน HPV ล้มเหลว ถูกแทรกแซง ได้ของแพงกว่า สายพันธุ์น้อยกว่า
เริ่มฉีดวัคซีน HPV นักเรียนหญิง ป.5 ส.ค.นี้ สธ.ยันผ่านการศึกษาคุ้มทุนแล้ว
- 200 views