พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือ อดีตนักเรียนทุนของกระทรวงสาธารณสุขที่จบจากสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกทั้งหมด ซึ่งได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่จบออกมาแล้วไม่ได้รับการบรรจุเป็น “ข้าราชการ” ตามที่ทุกคนได้รับทราบข้อมูลก่อนที่จะมาทำการศึกษา ซึ่งเรียกได้ว่า “ถูกฉีกสัญญา”
พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มนี้ ประกอบไปด้วยหลากหลายวิชาชีพ ได้แก่ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข นักเทคนิคการแพทย์ และอื่นๆ รวมจำนวนอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างปี 2543-2546 โดยประมาณ 26,549 คน
พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เกิดขึ้นเพื่อเตรียมบุคลากรรองรับการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่น และการจัดรูปแบบการบริหารงานภารกิจด้านบริการสาธารณะของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะพิจารณาเป็นองค์กรมหาชนในอนาคต โดยไม่ได้มีการวางแผนเตรียมการล่วงหน้า ก่อนที่นักเรียนทุนกระทรวงสาธารณสุขจะเข้ามาทำการเรียน การศึกษา
การเริ่มทำงานของพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในตอนนั้น มีข้อสังเกตหลายประการที่สะท้อนถึงการขาดการดูแลอย่างเป็นระบบ ดังนี้
1.โรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ภาระหน้าที่เพิ่มมากขึ้น จากนโยบาย เช่น ประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค
2.มีการบรรจุพนักงานของรัฐแต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าข้าราชการ
3.พนักงานของรัฐในมหาวิทยาลัย ได้ค่าตอบแทนมากกว่า พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
4.พนักงานของรัฐไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด
5.ไม่สามารถแต่งตั้งเป็นผู้บริหารได้
6.การกระจายอำนาจและภารกิจไปสู่ท้องถิ่นสามารถทำได้เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอนามัยชุมชน และการสาธารณสุขพื้นฐานเท่านั้น
7.การเปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นองค์กรมหาชน ต้องมีเป้าหมายในเรื่องคุ้มทุน กำไร ไม่สอดคล้องกับนโยบาย 30บาทรักษาทุกโรค
8.ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ยังคงอยู่
9.การขออายุราชการ ให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ปฏิบัติงานนั้น....ต้องใช้เวลา..ต้องแก้กฎหมาย..สมควรให้สิทธิประโยชน์ โดยบรรจุในขั้นและอันดับ ตามระยะเวลาและประสบการณ์การทำงาน ในฐานะ”พนักงานราชการ”
11 พฤษภาคม 2547 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 7 (คกก.7) ซึ่งพิจารณาเรื่องการขออนุมัติเปลี่ยนพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการ ตั้งแต่วันนั้นมา พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกคน ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ในระดับตำแหน่งเดิม โดยการนับอายุราชการไม่ได้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทำให้พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสูญเสียอายุราชการไปตั้งแต่ 1-4 ปี ตามลำดับปีที่จบการศึกษา
รุ่นที่ | พ.ศ.ที่จบ | เริ่มทำงาน-บรรจุ | จำนวนประมาณการ | อายุราชการที่หายไป |
1 | 2543 | 3 เม.ย.2543 -10 พ.ค. 2547 | 8,766 | 4.1 ปี |
2 | 2544 | 2 เม.ย.2544 -10 พ.ค.2547 | 6,706 | 3.1 ปี |
3 | 2545 | 1 เม.ย.2545 -10 พ.ค. 2547 | 6,444 | 2.1 ปี |
4 | 2546 | 1 เม.ย.2546 -10 พ.ค.2547 | 4,633 | 1.1 ปี |
นอกจากการได้รับผลกระทบ จากการสูญเสียอายุราชของพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
ยังเกิดกรณีที่สำนักงาน ก.พ.ได้ออกหลักเกณฑ์ ตาม นร.1008.1/154 เรื่องการบรรจุนักเรียนทุน “กลุ่มลูกจ้าง”โดยให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของตำแหน่ง ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ซึ่งทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง ไม่ได้อิงอายุราชการและระดับอีกต่อไป (อายุราชการน้อยกว่าถึง 5 ปี แต่ปรับให้ได้เงินเดือนเท่ากัน หรือพูดง่ายๆ คือ ปรับให้เงินเดือนของข้าราชการระดับปฏิบัติการ ที่บรรจุทีหลัง ได้รับการเยียวยา เงินเดือนมากกว่าข้าราชการระดับชำนาญการ) แสดงความล้มเหลวของระบบการคิดค่าตอบแทนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นอย่างยิ่ง
จนเกิดการเรียกร้อง และมีการออกเกณฑ์การเยียวยา ตาม นร.1012.2/250 เรื่อง การเยียวยาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน กรณีพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุข ก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ตอกย้ำความผิดพลาดเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากการแก้ปัญหาดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (กลุ่มที่ไม่ได้รับการเยียวยา) ทำให้เกิดปัญหา “ เงินเดือนน้อง แซงหน้าพี่” เป็นเหมือนกันทุกที่ทั่วประเทศ
เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างรุนแรงต่อกลุ่มพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหลักการบริหารที่ขาดซึ่งธรรมมาภิบาล ทำลายระบบที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และแผ่ขยายเป็นวงกว้างทั้งประเทศ รุ่นพี่ที่ปฏิบัติงานมาก่อน มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติราชการมากกว่า ภาระรับผิดชอบมากกว่า แต่ได้รับค่าตอบแทนที่น้อยกว่า เป็นแบบนี้ทั้งประเทศ ทำให้รุ่นพี่สูญเสียขวัญกำลังใจ ในการปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก
ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้อง ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ในหลายกลุ่มของพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสุข แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหายังคงเดิม
ชมรมพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2543-2546 ขอให้สำนักงาน ก.พ. และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้มีความจริงใจ และเร่งเยียวยาแก้ไข ปัญหาของพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปี2543-2546 อย่างจริงจัง จึงขอเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา ตามประเด็น ดังนี้
1.คืนอายุราชการแก่พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขโดยนับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงาน
2.ขอให้มีการเยียวยาพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จากความเหลื่อมล้ำการเยียวยาตาม นร 1012.2/250 ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเงินเดือนขึ้น
โดยในวันที่ 5 มิถุนายน 2560 นี้ ชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2543-2546 จะได้มีการยื่นหนังสือ ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักการพยาบาล
พร้อมทั้งส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม เพื่อเสนอปัญหา อุปสรรค และความเห็นของแต่ละวิชาชีพ ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดขึ้นต่อไป และติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา อย่างใกล้ชิด
ผู้เขียน : มานพ ผสม รักษาการประธานชมรมพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2543-2546
การเดินขบวนเรียกร้องของกลุ่มพนักงานของรัฐ รุ่นที่ 1 เมื่อปี 2543 หลังจบแล้วไม่ได้บรรจุข้าราชการ
- 380 views