ทันตแพทยสภาให้ข้อมูลคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ แจงเหตุจำเป็นยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ฟัน ออกจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ทันตแพทยสภาและคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (บอร์ดนิวเคลียร์) ในประเด็นข้อเรียกร้องให้ออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมออกจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ทั้งนี้ก่อนการเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง นายกทันตแพทยสภา คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 6 ท่าน และผู้แทนทันตะอาสา เพื่อประชุมเตรียมการก่อนการเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า จุดยืนของทันตแพทยสภาคือ การเสนอให้เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม intra oral และ Cephalometeric & Panoramic ออกจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขณะที่แทนผู้แทนทันตะอาสาเสนอให้ Cone Beam CT ออกจาก พ.ร.บ.นี้ด้วย ที่ประชุมได้อภิปรายกันถึงประเด็นความจำเป็นในการเสนอ Cone Beam CT ให้ออกจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้
ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ในการหารือได้ข้อสรุปว่า นายกทันตแพทยสภายังคงยืนตามมติของกรรมการทันตแพทยสภาที่จะเสนอให้ออกจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฯ เฉพาะ intra oral และ Cephalometeric & Panoramic ส่วนคณบดีท่านใดจะเสนอให้ Cone Beam CT ออกจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล
หลังจากนั้นจึงได้เข้าให้ข้อมูลต่อนิวเคลียร์ ทางบอร์ดนิวเคลียร์ได้อนุญาตให้แต่ละหน่วยงานเข้าให้ข้อมูลได้เพียงหน่วยงานละ 1 คน ดังนั้นจึงมี นายกทันตแพทยสภา, นายกทันตแพทยสมาคม และคณบดีหรือตัวแทนคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์อีก 6 ท่านเท่านั้น โดยรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้กล่าวนำว่า เคยสรุปเรื่องกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมไปแล้วว่า ยกเว้นให้เฉพาะเครื่องที่มีปริมาณรังสีต่ำกว่า 5kev แต่ทันตแพทยสภาก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้นในวันนี้จึงเชิญนายกทันตแพทยสภามาให้ข้อมูลอีกครั้ง พร้อมคณบดีคณะทันตแพทย์และผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ
นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ตนได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการต้องขอยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม intra oral และ Cephalometeric & Panoramic ออกจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิได้ซักถามและโต้แย้งหลายประเด็น ขณะที่ รมว.วิทยาศาสตร์เสนอให้กรรมการสถานพยาบาลไปแก้กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ให้ตรวจ-ขึ้นทะเบียนเครื่องทุก 2 ปี ได้หรือไม่ เพื่อที่ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จะได้เอาเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมออกจาก พ.ร.บ.นี้ แต่ทางสำนักงานกฤษฏีกาแย้งว่า ปส.ไม่สามารถมอบอำนาจให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นทะเบียนและตรวจเครื่องแทนได้ เนื่องจากกฎหมายให้ ปส.ทำหน้าที่นี้ และในอดีต ปส.เคยมอบอำนาจให้กรมวิทยศาสตร์การแพทย์ทำแทน แต่ปัจจุบันนี้ทำไม่ได้เพราะขัด พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ที่ทำได้คือให้กรมวิทยศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานตรวจเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมให้แล้วส่งข้อมูลมาให้ ปส.ขึ้นทะเบียน-ออกใบอนุญาตให้
“ทันตแพทยสภายังคงยืนยันหลักการและเหตุผลความจำเป็นที่ชัดเจนให้มีการยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม intra oral และ Cephalometeric & Panoramic ออกจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งกรรมการนิวเคลียร์บอกว่าจะทำได้ ต้องมีหลักการและเหตุผลที่ชัดเจน หากยอมให้เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมออกจาก พ.ร.บ.นี้ด้วยเงื่อนไขหนึ่งๆ เช่น ค่าพลังงาน 60-95 Kvp แล้ว จะต้องยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ที่อยู่ในเงื่อนไขเดียวกันนี้ออกให้หมดเช่นกัน โดยเฉพาะเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์จำนวนมากที่มีลักษณะคล้ายกับ Cephalometeric & Panoramic ซึ่งถ้ายกเว้นเฉพาะเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมแล้วทางบอร์ดนิวเคลียร์เพื่อสันติจะทำผิดกฎหมาย ดังนั้นในเรื่องนี้จึงต้องรอดูมติของคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป” นายกทันตแพทยสภา กล่าว.
- 21 views