กระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ แก่ บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย และประชาชนกลุ่มเสี่ยง 3.5 ล้านโด๊ส ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้านฟรี 1 มิถุนายน - 31สิงหาคม2560

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้ามาตรการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ว่า โรคไข้หวัดใหญ่เกิดได้ประปรายตลอดทั้งปี โดยจะพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุที่สำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน ทั้งนี้เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี จากสถานการณ์ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 พฤษภาคม 2560 พบผู้ป่วย 22,117 ราย เสียชีวิต 2 ราย เพื่อลดความรุนแรงของโรค การให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น จึงต้องมีการฉีดวัคซีนทุกปี

ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จำนวน 3 ล้าน 5 แสนโด๊ส ให้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 4 แสนโด๊ส และประชาชนกลุ่มเสี่ยง 3 ล้าน 1 แสนโด๊ส ประกอบด้วย

1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป

2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี

3.ผู้มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน

4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

5.ผู้มีน้ำหนักตัว มากกว่า 100 กิโลกรัม

6.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

7.ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย8.ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)

โดยจะเริ่มให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 31สิงหาคม 2560 สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้านฟรี โดยวัคซีนที่ฉีดให้ครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A Michigan (H1N1) สายพันธุ์ A Hong Kong (H3N2) และสายพันธุ์ B Brisbane (ออสเตรเลีย)

การเตรียมตัวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้น ก่อนฉีดวัคซีน ควรพักผ่อนให้เพียงพอ สุขภาพโดยรวมสามรถปฏิบัติงานได้ปกติ ไม่ป่วยหรือมีอาการไข้ก่อนรับการฉีดวัคซีน ผู้ที่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรง มีประวัติเคยแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง โดยทั่วไปอาการข้างเคียงพบได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นอาการเฉพาะที่ เช่น บวม แดง ตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือมีไข้ต่ำๆ อาการที่เกิดขึ้นมักหายได้เองภายใน 1-3 วัน การดูแลรักษาอาการข้างเคียง หากปวด บวมบริเวณที่ฉีดให้ประคบด้วยผ้าเย็น หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ในขนาดที่เหมาะสม หากมีอาการรุนแรง หรือเป็นมาก ควรปรึกษาแพทย์ทันที และแจ้งอาการให้ทราบโดยละเอียด

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 หรือ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 02-590-3183