รพ.เขาวง ปรับบทบาทเภสัชกร ผุดระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ลดอาการเจ็บปวด ญาติพอใจ เสียชีวิตอย่างสงบ
ภญ.สุลาวัณย์ วรรณโครต เภสัชกรโรงพยาบาลเขาวง จ.กาฬสินธุ์ บรรยายพิเศษเรื่องเล่าเร้าพลังหัวข้อ “ตราบลมหายใจสุดท้าย การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ภายใต้การประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ หัวข้อ“เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ” เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2560 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยยกกรณีศึกษาหญิงวัยกลางคนอายุประมาณ 50 ปี ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย แผลส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง กินได้เพียงแต่น้ำข้าวต้ม ต้องอยู่ในสภาพกึ่งนั่งกึ่งนอนโดยร้องครางด้วยความเจ็บปวดตลอดเวลา ไม่ขับถ่ายอุจาระติดต่อกันถึง 7 วัน ที่สำคัญคือไม่สามารถกลืนยาเม็ด (MST) ได้
ภญ.สุลาวัณย์ กล่าวว่า เกิดคำถามขึ้นว่าเภสัชกรตัวเล็กๆ อย่างเราจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้มากกว่าการลูบท้อง ปลอบประโลม หรือสวนอุจจาระออกบ้าง ซึ่งเมื่อกลับมาพิจารณาก็พบว่าโรงพยาบาลเขาวงเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ซึ่งห่างจากตัวเมืองถึง 98 กิโลเมตร และยับพบปัญหาเรื่องไม่มียามอร์ฟีนชนิดกินที่ออกฤทธิ์เร็วเพื่อบรรเทาอาการปวดปะทุ ไม่มียาในการให้รูปแบบอื่นที่จะสามารถให้ได้เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาได้ และยังขาดแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ภญ.สุลาวัณย์ กล่าวอีกว่า เมื่อพบคนไข้จึงปรึกษาแพทย์ว่าควรจะทำอย่างไรต่อดี ซึ่งได้คำแนะนำว่าจำเป็นเปิดหลอดเลือดดำค้างไว้และให้มอร์ฟีนทางหลอดเลือดดำแทนการรับประทาน เพราะเป็นเพียงทางเลือกเดียว แต่ก็ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ยามอร์ฟีนว่าจะเป็นการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วขึ้นหรือไม่
“นั่นจึงนำมาซึ่งการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยมีเป้าหมายคือผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ได้รับการเยี่ยมและดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ตลอดจนได้รับยา Opioids เพื่อบรรเทาอาการปวด และเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติตามแนวทางและมีความพึงพอใจในการทำงานร่วมกัน” ภญ.สุลาวัณย์ กล่าว
ภญ.สุลาวัณย์ กล่าวถึงโครงการพัฒนาดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองว่า เริ่มต้นจากการจัดตั้งคณะทำงาน จากนั้นมีการผลักดันนำมอร์ฟีนชนิดน้ำเชื่อม (Morphine syrups) เข้ามาในบัญชียาของโรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็เริ่มพัฒนาระบบการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยร่วมกับทีมสหวิชาชีพ จัดให้มีการอบรมให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้วยการเลือกใช้วิธีการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยทางโปรแกรมไลน์ (Line) และจัดการศึกษาดูงาน ณ โรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
“ผลการดำเนินงานสำเร็จด้วยดี สามารถเปลี่ยนแปลงของระบบเบิกจ่ายยาเสพติดได้ ผู้ป่วยได้รับยา Opioids เพิ่มขึ้นจาก 35.71% ของผู้ป่วยที่มีอาการปวด เป็น 76.47% ผู้ป่วยได้รับการดูแลประคับประคองมากขึ้น ผู้ป่วยได้รับการเยี่ยมและดูแลต่อเนื่องที่บ้านจาก 58.93% เป็น 100% ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบจาก 60.86% เป็น 100%และญาติผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อการดูแลมากขึ้นจาก 79% เป็น 96%” ภญ.สุลาวัณย์ กล่าว
สำหรับความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่ภายหลังดำเนินโครงการ พบว่าระดับความพึงพอใจต่อการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ 89.5% ความสามารถของเจ้าหน้าที่เครือข่ายในการปฏิบัติตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพิ่มขึ้นจาก 65.2% เป็น 82.5%
“ที่ผ่านมาเภสัชกรเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนในการจัดหายาหรือให้เพียงคำแนะนำการใช้ยาเพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เภสัชกรสามารถเข้ามามีบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของทีมสหวิชาชีพ ที่มีความรู้ทั้งในด้านการประเมินผู้ป่วย หรือสามารถช่วยเหลือสหวิชาชีพอื่นในการจัดการอาการของผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ นอกเหนือจากการเป็นผู้มีความรอบรู้ในการใช้ยาเท่านั้น ด้วยการเลือกที่จะเป็นผู้นำหรือผู้ตามในแต่ละสถานการณ์นั้นๆ” ภญ.สุลาวัณย์ กล่าว
ภญ.สุลาวัณย์ กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการทำให้เกิดตะกอนความคิดว่าเราต่างยังต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการร่วมมือร่วมใจกันจนเกิดการพัฒนาในครั้งนี้ก็คือ ความเชื่อมั่นในพลังความสามารถที่ทุกคนมี และการมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือต้องการให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานตราบลมหายใจสุดท้าย
- 176 views