เครือข่ายประชาชนและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกว่า 70 คน ดักพบ รมว.สธ.ก่อนประชุมร่วมกับ สปสช. เรียกร้อง ยุติกระบวนการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ม. 77 ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ที่สำคัญสาระที่แก้ไขบิดเบือนหลักการของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลิดรอนสิทธิประชาชน
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและ ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้ขาดธรรมาภิบาลตั้งแต่การคัดเลือกกรรมการแก้ไขกฎหมายแล้ว โดยมีสัดส่วนของผู้ให้บริการมากถึง 12 คนจาก 26 คน ที่เหลือคือส่วนราชการอื่น เช่น กรมบัญชีกลาง โดยมีประชาชนเพียง 2 คน ซึ่งมีเจตนาโน้มเอียงเอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการภายใต้กระทรวงสาธารณสุข
“มีหลายประเด็นในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เช่น การขอเพิ่มสัดส่วนกรรมการบอร์ด สปสช.ในส่วนผู้ให้บริการ โดยไม่มีหลักคิดอะไรมารองรับ ยิ่งเป็นการทำลายหลักการระบบหลักประกันสุขภาพฯ แทนที่บอร์ดจะเป็นผู้แทนของผู้รับบริการหรือเป็นบอร์ดของผู้ซื้อบริการ กลับกลายเป็นว่ามีองค์ประกอบของผู้ให้บริการมากกว่ามาก เจตนาชัดเจนที่ปล่อยให้ผู้จัดบริการเข้ามาแทรกแซง ถ้าพิจารณาดูดีๆ ก็จะเห็นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน เพราะบอร์ด สปสช.มีหน้าที่จัดหาบริการ กำหนดค่าใช้จ่ายให้หน่วยบริการ โดยต้องตั้งอยู่บนฐานให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ดีมีมาตรฐาน แต่กลับมีคนของผู้ให้บริการมาเป็นกรรมการเพิ่มมากขึ้น” นายนิมิตร์กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ ครั้งนี้ถือว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญตามมาตรา 77 ที่กำหนดว่าการแก้ไขกฎหมายต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และต้องให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมในกระบวนการแก้กฎหมายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การจัดเวทีรับฟังความเห็นเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เราจึงเรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุขหยุดกระบวนการแก้กฎหมายที่เป็นอยู๋ในปัจจุบัน และเริ่มต้นกระบวนการใหม่ที่ถูกต้อง
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ผู้แทนเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังและเอชไอวีกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลและรับไม่ได้เลยอย่างยิ่งคือการไปตีความว่าสำนักงาน สปสช.ไม่มีอำนาจในการจัดซื้อยา ทั้งๆ ที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการพัฒนาระบบการจัดซื้อยารวมเฉพาะยาที่จำเป็น มีแนวโน้มว่าประชาชนจะเข้าไม่ถึง รวมถึงยาที่มีราคาแพง และยากำพร้าทั้งหลาย โดยมีระบบการต่อรองราคายา ทำให้สามารถซื้อยาได้ในราคาที่ถูก มีระบบบริหารยาที่เป็นมืออาชีพโดยร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม ตัวอย่างเช่น ยาต้านไวรัสเอชไอวี น้ำยาล้างไต เป็นต้น ที่ผ่านมาประชาชนเข้าถึงยาได้อย่างต่อเนื่อง ลดภาระโรงพยาบาลด้านการสั่งซื้อ จัดเก็บยา ที่สำคัญประหยัดงบประมาณด้านยาได้อย่างมหาศาล
แต่ในกฎหมายที่กำลังแก้นี้กลับจะถอยหลังกลับไปเป็นแบบยุคแรกคือให้ สธ.จัดซื้อ คำถามคือ สธ.มีระบบรองรับหรือไม่ ซึ่งการจัดซื้อยาในส่วนนี้ของ สปสช.ที่ผ่านมามีปริมาณการซื้อแค่ร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยาทั้งประเทศ ที่เหลืออีกกว่า 95% รพ.ก็เป็นคนจัดการสั่งซื้อกันเองอยู่แล้ว จะมีอะไรการันตีว่าประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบต่อการเข้าถึงยา กลับกันคณะกรรมการฯ แก้กฎหมายควรสนับสนุนให้ สปสช.จัดการเรื่องนี้ให้ดีขึ้นได้ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้
“จริงๆ กรณีนี้ทาง คตร.ที่เข้ามาตรวจสอบการทำงานของ สปสช.และพบว่าไม่มีปัญหาด้านการทุจริตใดๆ แต่มองว่าการจัดซื้อยาของ สปสช.ไม่มีระเบียบรองรับ และยังแนะนำให้มีการเพิ่มระเบียบให้ สปสช.สามารถสั่งซื้อยาได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน” นายอภิวัฒน์ กล่าว
ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังรับหนังสือจากเครือข่ายประชาชนว่า ขอยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนนั้น ประชาชนจะต้องได้สิทธิไม่น้อยไปกว่าเดิม มีแต่จะดีขึ้น นั่นคือคำสัญญา ซึ่งได้พูดอย่างนี้มาทุกครั้ง ฉะนั้นในการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะมีประชาพิจารณ์อย่างน้อย 4 ครั้งโดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งผู้รับผิดชอบหลักคือ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่ดำเนินการอยู่ทางฝ่ายประชาชนอยู่แล้ว สมัชชาสุขภาพแห่งชาติฟังเสียงประชาชนมาโดยตลอด เป็นตัวกลางในการทำประชาพิจารณ์ เพราะฉะนั้นประชาพิจารณ์แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้รับฟังเสียงประชาชนอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แน่นอน
- 7 views