ก.พ.ชี้แจง สาเหตุไม่อนุมัติตำแหน่งข้าราชการพยาบาลใหม่ ชี้ สป.สธ.มีตำแหน่งว่างถึง 11,213 อัตรา หรือ 5.8% ของอัตรากำลังทั้งหมด สามารถกำหนดตำแหน่งว่างเป็นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพได้ตามจำเป็น แนะ สป.สธ.ทบทวนให้พยาบาลทำหน้าที่เฉพาะภารกิจที่ต้องใช้พยาบาลเท่านั้น
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ออกจดหมายชี้แจงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น
โดย สำนักงาน ก.พ.ระบุว่า ก.พ.ขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรอัตรากำลังที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) รับผิดชอบ (โดยที่สำนักงาน ก.พ.เป็นฝ่ายเลขานุการ คปร.) ดังนี้
1.คำขอ สป.สธ.ขอให้ คปร.พิจารณา
1.1 กำหนดอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ โดยแบ่งบรรจุเป็นระยะเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2560-2562) ปีละ 3,664 อัตรา รวม 10,992 อัตรา
1.2 ขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพสำหรับจัดสรรให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ชายแดน เพื่อบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตบุคลากรพยาบาลเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในจังหวัดชายแดนตามรอยสมเด็จย่า ปีละ 50 อัตรา เป็นระยะเวลา 9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2560-2568) รวม 450 อัตรา
รวมทั้งสิ้น 11,442 อัตรา
2.การพิจารณาของ คปร.
2.1 เห็นควรเพื่ออัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ สำหรับจัดสรรให้กับ รพ.สต.ในพื้นที่ชายแดน เพื่อบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตบุคลากรพยาบาลเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในจังหวัดชายแดนตามรอยสมเด็จย่า ปีละ 50 อัตรา เป็นระยะเวลา 9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2560-2568) รวม 450 อัตรา
2.2 ไม่เห็นควรจัดสรรอัตราตั้งใหม่ จำนวน 10,992 อัตรา เนื่องจาก
-สป.สธ.มีตำแหน่งข้าราชการว่างอยู่เป็นจำนวนมาก มีตำแหน่งว่าง ณ วันที่ 3 มีนาคม 2560 จำนวน 11,213 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 5.8 ของกรอบอัตรากำลังข้าราชการทั้งหมด (กรอบอัตรากำลังข้าราชการของ สป.สธ.จำนวน 192,960 อัตรา) สป.สธ.อาจใช้ตำแหน่งว่างดังกล่าวไปกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น นอกจากนี้ สป.สธ.ควรบริหารจัดการอัตราว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดความคุ้มค่า ไม่เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณด้านบุคคลภาครัฐ ซึ่งปัจจุบัน สป.สธ.มีสัดส่วนงบบุคลากรเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดที่ร้อยละ 72.81
-เมื่อพิจารณาสัดส่วนในการให้บริการประชาชนพบว่า จำนวนพยาบาลวิชาชีพของไทยมีจำนวนสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 1.4 คน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับจำนวนพยาบาลต่อจำนวนประชากรที่เหมาะสมว่า ควรมีจำนวนพยาบาลวิชาชีพอย่างน้อย 20.0 คนต่อประชากร 10,000 คน เมื่อพิจารณาจากจำนวนพยาบาลวิชาชีพของไทยที่มีอยู่ 21.4 คนต่อประชากร 10,000 คน ข้อมูลดังกล่าวไม่รวมถึงจำนวนพยาบาลวิชาชีพที่เป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว
ปัจจุบัน สป.สธ.มีอัตรากำลังในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ รวมทั้งสิ้น 105,260 อัตรา ดังนี้
ข้าราชการ 90,574 ตำแหน่ง
พนักงานราชการ 372 อัตรา
พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 9,640 อัตรา
ลูกจ้างชั่วคราว 4,674 อัตรา
3.ให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงการทำงานในโรงพยาบาลให้มีลักษณะการผสมผสานทักษะความชำนาญงานเฉพาะด้าน (Skill mix) เพื่อให้บุคลากรในโรงพยาบาลทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานร่วมกับพยาบาลวิชาชีพ รวมทั้งปรับลดหรือทบทวนให้พยาบาลวิชาชีพทำเฉพาะภารกิจที่ต้องใช้พยาบาลวิชาชีพ เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลได้ปฏิบัติงานการพยาบาลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
- 20 views