อย.ยืนยันไม่เคยอนุญาตให้ใส่สารสกัดหมามุ่ยในผลิตภัณฑ์อาหาร แจงข้อมูลทางวิชาการชี้สารสำคัญในเมล็ดหมามุ่ยที่ชื่อว่า L – dopa ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาท dopamine มีผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ และยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดเกี่ยวกับความปลอดภัยของการบริโภคสารสกัดจากหมามุ่ย เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อ
นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์
นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบจากสารสกัดหมามุ่ยได้รับเลขสารบบอาหารจาก อย. โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณในทำนองว่า สามารถบำบัด บรรเทา หรือ รักษาโรคได้ นั้น อย.ขอชี้แจงว่า ไม่เคยอนุญาตให้ใส่สารสกัดหมามุ่ยในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเนื่องจากมีสารสำคัญในเมล็ดหมามุ่ยที่ชื่อว่า L – dopa ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาท dopamine ที่มีผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ในปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดเกี่ยวกับความปลอดภัยของการบริโภคสารสกัดจากหมามุ่ยที่นำมาเป็นอาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร และยังไม่ปรากฏหลักฐานจากหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศที่อนุญาตให้ใช้หมามุ่ยเป็นอาหาร หรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร
เตือนภัยผู้บริโภคอย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์อาหารใดที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ คุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องได้รับความเห็นชอบจาก อย. เท่านั้น ผู้ขออนุญาตต้องแสดงเอกสารหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์การกล่าวอ้างนั้น และปฏิบัติตามคู่มือประชาชน เรื่องการขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพ ถ้าเผยแพร่โฆษณาเฉพาะท้องถิ่นหรือจังหวัดสามารถยื่นขออนุญาตได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ แต่หากเผยแพร่ทั่วประเทศจำเป็นต้องขออนุญาตต่อ อย.อีกครั้งหนึ่งก่อนจึงจะเผยแพร่ได้
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือ อาหาร ไม่ใช่ยารักษาโรค ผู้ประกอบการต้องไม่แสดงสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา หรือป้องกันโรค และไม่หลอกลวงหรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ผู้ใดทำการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพ โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่ากระทำผิดกฎหมาย
เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการการดำเนินการของ อย. กรณีพบการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการโฆษณา แสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือ สรรพคุณอาหารอันเป็นเท็จ โอ้อวด หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อ โดยไม่สมควร ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพิสูจน์ได้ว่า ข้อความบนฉลากเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ เข้าข่ายหลอกลวง มีโทษจำคุก 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท
รวมทั้งประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่ามีการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจแบบตรงหรือไม่ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อตรวจสอบเรื่องการจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับร้านค้าออนไลน์ หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือพบการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการปราบปรามและดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด
- 61 views