อย.แจง การยกร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผ่านทางเว็บไซต์สำนักยา การจัดประชุม ทางจดหมายและอีเมล เป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาต เกิดความมั่นคงด้านยาของประเทศ และจะชี้แจงความคืบหน้าของร่างฯ ดังกล่าว ในวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ย้ำ ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ต้องรัดกุม เหมาะสม เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และประชาชนได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่มีข้อกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ที่จะใช้แทนพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า อย.ได้รับฟังความคิดเห็นจากองค์กรและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานด้วยความโปร่งใสและเปิดเผย โดยร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... เริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกทางเว็บไซต์สำนักยาระหว่างวันที่ 11-26 ม.ค. 61 และเมื่อปรับปรุงร่างกฎหมายแล้วก็ได้มีการจัดการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในวันที่ 26 ก.พ. 61 ทั้งยังดำเนินการรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักยาระหว่างวันที่ 26 ก.พ.-31 มี.ค.61 ภายหลังจากนั้นยังเปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจนถึงวันที่ 10 พ.ค. 61 ทั้งในรูปแบบจดหมายและอีเมล

ต่อมา อย.ได้นำร่างดังกล่าวรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ระหว่างวันที่ 17-31 ก.ค. 61 โดยหน่วยงาน สมาคม ชมรม สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องได้ร่วมให้ความเห็นในทุกครั้ง จากกระบวนการรับฟังความเห็นทั้งหมดมีความคิดเห็นเข้ามาราว 2,000 ความเห็น ซึ่งวัตถุประสงค์ของการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาต และเกิดความมั่นคงด้านยาของประเทศ

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อไปว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... ประกอบด้วย การกำหนดให้มีคณะกรรมการยาแห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องความมั่นคงด้านยาของประเทศ กำหนดนิยามยาเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ยาควบคุมพิเศษ ยาอันตราย ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ และยาสามัญประจำบ้าน ตามความเข้มงวดในการกระจายยา การเข้าถึงยาและบริบทของประเทศ ในการขออนุญาตเกี่ยวกับยา แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตผลิตยา แบ่งจ่ายยาและจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะรายของตน แต่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงยาของประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการขออนุญาตผลิต ขาย นำเข้าและจดแจ้งวัตถุดิบในการผลิตยาเพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพและสอบกลับได้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น การไม่กำหนดให้เภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเพียงแห่งเดียวเพื่อให้ การปฏิบัติหน้าที่ของวิชาชีพทำได้ครอบคลุมทั่วถึง และเพื่อลดปัญหาความขาดแคลนเภสัชกร ในส่วนการควบคุมโฆษณาและการส่งเสริมการขายยาได้กำหนดให้มีทั้งการขออนุญาตและการจดแจ้ง ทั้งนี้ ยังปรับปรุงบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ขาย และสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ อย.ที่มีเจตนารมณ์แน่วแน่ในการคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา และมิให้เกิดความเสียหายต่อระบบยาของประเทศไทย โดย อย.จะดำเนินการชี้แจงความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 27 สิงหาคม 2561 เวลา 10.30- 12.00 น. ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร อาคาร 7 ชั้น 9 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนผ่าน QR Code เลขาธิการฯ อย.กล่าวในตอนท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เภสัชค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับ อย. ให้วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่เภสัชขายยาได้ ไม่ปลอดภัยต่อ ปชช.

แนะถอยคนละก้าวร่าง พ.ร.บ.ยา เขียนให้ชัดยาอะไรที่วิชาชีพอื่นสั่งจ่ายได้บ้าง

ชมรมเภสัชฯ ค้านร่าง พ.ร.บ.ยา แจง 6 ช่องโหว่สุดเสี่ยง จี้ อย.ทบทวนด่วน

สภาพยาบาลหนุนร่าง พ.ร.บ.ยา ชี้เอื้อทุกวิชาชีพทำงานร่วมกันได้ แจงหลักสูตรมีสอนเรื่องยา

ชี้ร่าง พ.ร.บ.ยาอ่อนด้อยยิ่งกว่าของเดิม ยันผ่อนปรนไม่ได้ เพราะเป็นความปลอดภัยของ ปชช.

อย.แจงร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

อย.เตรียมตั้ง คกก.ถกร่าง พ.ร.บ.ยา “เปิดช่องวิชาชีพอื่นจ่ายยาได้”

สภาเภสัชกรรมชี้ร่าง พ.ร.บ.ยา ซ้ำรอยเดิม อย.ทำปัญหาวนกลับจุดเดิม หนุนใช้ระบบใบสั่งยา

เภสัชกรอีสานยืนยันค้านร่าง พ.ร.บ.ยา เพื่อ ปชช.ใช้ยาปลอดภัย ไม่ได้ปกป้องวิชาชีพ

อย.ชี้เข้าใจร่าง พ.ร.บ.ยาผิด โดยเฉพาะประเด็น ‘จ่ายยาและขายยา’ ยืนยันมีข้อดีหลายด้าน

องค์กรประชาชนอีสานร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ชี้เอื้อประโยชน์ทุนกินรวบ