ผลงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่น ระดับชาติ ประจำปี 2560 สาขาส่งเสริมสุขภาพในชุมชน ตำบลท่าแซะ จ.ชุมพร ใช้แอพพลิเคชัน FFC+ ประเมินความเจ็บป่วยเบื้องต้น ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต การติดตามและลงพื้นที่เยี่ยมบ้านประสบผลสำเร็จในการเฝ้าระวัง ดูแลสุขภาพชุมชน 5 กลุ่มวัย ครอบคลุมทั้ง 11 หมู่บ้าน พบการดำเนินงานครบ100% ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ การดูแลภาวะโภชนาการและพัฒนาการเด็ก การดูแลผู้สูงอายุ และกลุ่มวัยรุ่นให้หันมาเล่นกีฬา สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพประชาชนเกิดการพึ่งพาตนเองและชุมชนสุขภาพดี

นายภมร ชูช่วย อสม.ดีเด่น สาขาส่งเสริมสุขภาพในชุมชน จังหวัดชุมพร กล่าวว่า จากการดำเนินงานในพื้นที่บ้านเขาอำปาง ตำบลท่าแชะ อำเภอท่าแชะ จังหวัดชุมพรและได้เก็บข้อมูลสุขภาวะย้อนหลัง 3 ปี พบว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นทุกปี จึงได้คิดนวัตกรรม Es Cab Health (ECH) หรือระบบดูแลสุขภาพในชุมชนแบบเชี่ยวชาญอย่างยั่งยืน ที่เป็นการทำงานส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู และติดตาม ผ่านแอพพลิเคชันส่งเสริมสุขภาพใน 5 กลุ่มวัย ได้แก่ แม่และเด็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน วัยผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการปัญหาด้านสุขภาพในชุมชน ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยใช้แอพพลิเคชัน Family Folder Collector (FFC+) หรือโปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัวแบบพกพา โดยวิธีการปักหมุดบ้านทุกหลังในชุมชน บันทึกข้อมูลด้านสุขภาพลงในระบบ และเชื่อมโยงส่งต่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงการประเมินความเจ็บป่วยเบื้องต้น ให้คำแนะนำการปฏิบัติตนอย่างถูกวิธี ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมทั้ง 11 หมู่บ้าน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์จากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นวัตกรรม Es Cab Health (ECH) หรือระบบดูแลสุขภาพในชุมชนแบบเชี่ยวชาญอย่างยั่งยืนมี 4 เครื่องมือ ได้แก่

1.ตัวบีบไม้ ใช้ฟื้นฟูผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต ผู้สูงอายุและผู้พิการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่มีอาการชาปลายมือ

2.วงล้อป้องกันภาวการณ์แท้ง เป็นการดูแลหญิงตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการตั้งครรภ์ไปจนถึงการคลอด สามารถประเมินได้ด้วยตนเอง พร้อมระบุเบอร์โทรศัพท์ หากขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ รพ.สต.และหน่วยกู้ชีพกรณีฉุกเฉิน

3.การเยี่ยมชุมชนด้วยแอปพลิเคชันFCC มาช่วยในการเก็บข้อมูลพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกด้าน อนามัยสิ่งแวดล้อม งานเฝ้าระวังโรคติดต่อและ โรคไม่ติดต่อ

และ 4.วงล้อโภชนาการและพัฒนาการเด็ก เฝ้าระวังและส่งเสริมโภชนาการเด็กตั้งแต่ แรกเกิด-1ปี

ผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พบว่า ประชาชนในชุมชนมีสุขภาวะที่ดี เห็นได้จากกลุ่มวัยทำงานมีผู้ป่วยสามารถควบคุมน้ำตาลและความดันโลหิตสูงจำนวนเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาปลายมือลดลงการดูแลภาวะโภชนาการและพัฒนาการเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มวัยรุ่น ให้หันมาสนใจกีฬา 100% ในกลุ่มแม่และเด็กสามารถป้องกันภาวะแท้งได้ ร้อยละ 87.50 กลุ่มวัยรุ่นสามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 84.62 และผู้พิการที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ร้อยละ 66.67 ส่งผลให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจต่อนวัตกรรมที่นำไปใช้ในชุมชน อยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 98

ทั้งนี้ โปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัว (Family Folder Collector) หรือ FFC+ เป็นโปรแกรมที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) บนแท็บเล็ต โดยโปรแกรมถูกออกแบบให้ใช้งานร่วมกับฐานข้อมูล โปรแกรมระบบงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และศูนย์สุขภาพชุมชน JHCIS ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ รพ.สต.นำไปใช้ เยี่ยมบ้าน คัดกรองโรค สำรวจพิกัดบ้าน สถานที่สำคัญ ในชุมชน ลดปัญหาการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน และส่งเสริมการทำงานเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีคุณสมบัติที่โดดเด่นในการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพดังนี้

มีระบบการรักษาความปลอดภัยให้ฐานข้อมูลด้วยการเข้าและถอดรหัสลับก่อนใช้งานฐานข้อมูล เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของฐานข้อมูล

มีระบบการยืนยันผู้ใช้ที่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้ เพิ่มความปลอดภัยอีกระดับ

ใช้งานร่วมกับโปรแกรมระบบงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและศูนย์สุขภาพชุมชน (JHCIS) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้อย่างอัตโนมัติ ด้วยโปรแกรม FFC Autosync 2011 ที่ติดตั้งไว้บนคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server)

สามารถระบุตำแหน่งพิกัดหลังคาเรือนจากระบบ GPS หรือ AGPS อย่างอัตโนมัติได้

สามารถเพิ่ม แก้ไข ลบ ค้นหา ตำแหน่งพิกัดของหลังคาบ้านบนแผนที่ Google map ได้

สามารถดูข้อมูลสภาวะความเป็นโรคเรื้อรังของบุคคลในบ้านบนแผนที่ได้

สามารถสร้างผังเครือญาติ (Genogram) ในรูปแบบกราฟฟิก โดยมีจุดศูนย์กลางที่เจ้าบ้านได้ ๔ รุ่นอายุคน (หนึ่งรุ่นอายุคนก่อนเจ้าบ้าน สองรุ่นอายุคนหลังเจ้าบ้าน) จากฐานข้อมูลของโปรแกรม JHCIS ได้อย่างอัตโนมัติ

สามารถแสดงรายละเอียดข้อมูลคนในผังเครือญาติ เช่น เพศ วัย อายุ และสภาพการเป็นโรคเรื้อรังได้

สามารถแก้ไขปรับปรุงข้อมูลส่วนบุคคลได้ เช่น รหัสบัตรประชาชน ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด หมู่เลือด และ ยา/อาหารที่แพ้ได้

สามารถถ่ายและบันทึกภาพของบุคคล และนำมาเก็บในฐานข้อมูลของโปรแกรม JHCIS ได้

สามารถเลือกดูรายละเอียดของบุคคลที่อยู่ในผังเครือญาตินั้นได้

สามารถข้ามไปดูผังเครือญาติของบุคคลที่มีความสัมพันธ์แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

สามารถบันทึกข้อมูลภาวะสุขภาพที่สำคัญในการออกเยี่ยมเพื่อปรับปรุงข้อมูลด้านสุขภาพได้

สามารถวินิจฉัยโรค ตามมาตรฐาน ICD-10 ในการออกตรวจสุขภาพนอกสถานที่ได้

มีระบบค้นหา รหัสวินิจฉัยโรค เพื่อสะดวกในค้นหารหัสโรค หรือ คำหลักของโรคนั้นได้ พร้อมรหัสวินิจฉัยโรคที่มีใช้งานบ่อยๆ

มีระบบจ่ายยา เวชภัณฑ์ บริการ พร้อมวิธีใช้ยา (ถ้ามี) เพื่อสะดวกในการให้บริการนอกสถานที่ในกรณีที่ต้องการจ่ายยา เวชภัณฑ์ บริการ ผู้ป่วยที่บ้าน พร้อมระบบค้นหา รหัส ยา เวชภัณฑ์ บริการ

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาโปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัว (FFC: Family Folder Collector) ร่วมกับระบบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และศูนย์สุขภาพชุมชนที่ชื่อว่า JHCIS เพื่อใช้ทดแทนการจัดเก็บข้อมูลแฟ้มอนามัยครอบครัว (Family Folder) แบบเก่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลสุขภาพและอนามัยของคนไทย

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่

คุณวัชรากร หนูทอง โทรศัพท์

watcharakon.noothong@nectec.or.th

โทร : 025646900ต่อ2513

ห้องปฏิบัติการวิจัยโพรโตคอลและเครือข่ายไร้สาย (WNP)

หน่วยวิจัยเทคโนโลยีไร้สายข้อมูลความมั่นคงและนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (WISRU)