แพทย์โรคไต รพ.พระมงกุฎฯ แนะจะกำหนดนโยบายล้างไตด้วยวิธีใดเป็นอันดับแรกต้องมองยุทธศาสตร์ให้ครบองค์ประกอบโดยเฉพาะปัญหางบประมาณประเทศที่ต้องไม่เบียดบังการรักษาโรคอื่นด้วย แนะ สปสช.นำข้อมูลล้างไตช่องท้องมาให้ "คนกลาง" วิเคราะห์ เพื่อต่อยอดพัฒนาการรักษาให้ดีขึ้น
นพ.อดิศร ลำเพาพงศ์ กุมารแพทย์โรคไต รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า การที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดนโยบายล้างไตช่องท้องอันดับแรกกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวาย คงเพราะอ้างอิงแนวทางจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยที่ออกกฎเกณฑ์นี้ โดย สปสช.อาจนำข้อมูลในเชิงงบประมาณ สังคม จิตวิทยา และการเดินทางของคนไข้มาประกอบ แต่ถ้าคนไข้ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การรักษาไตวายไม่ว่าจะวิธีฟอกเลือดหรือ ล้างไตทางช่องท้องก็ไม่น่าจะต่างกัน
ส่วนที่มีข้อวิจารณ์ว่า การล้างไตทางช่องท้องทำให้เกิดการติดเชื้อมากกว่าการฟอกเลือดนั้น ความจริงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ ปัจจัยของคนไข้ ถ้ามีการดูแลสุขภาพดี ทำตามที่พยาบาลแนะนำหรือญาติผู้ที่ดูแลคนไข้ได้รับการอบรมที่ดี ก็คิดว่าอัตราการติดเชื้อก็ไม่น่าจะมาก อย่างไรก็ตามถ้าพบการติดเชื้อ สิ่งที่ต้องช่วยกันคือพัฒนาระบบการดูแล การทำความเข้าใจกับผู้ป่วยทำให้คุณภาพเขาดีขึ้น เช่น ติดเชื้อเพราะอะไร เพราะผู้ป่วยไม่เข้าใจหรือผู้ป่วยละเลย หรือเจ้าหน้าที่อธิบายวิธีการดูแล กระบวนการล้างไตทางช่องท้องไม่ครบก็ต้องแก้ที่จุดนั้น
นพ.อดิศร กล่าวว่า หากจะถามว่าสถานการณ์การล้างไตช่องท้องในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่เรายอมรับได้หรือไม่ ตรงนี้ สปสช.ต้องเอาข้อมูลที่มีมาให้นักวิชาการที่เป็นกลาง เช่น จากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยมาวิเคราะห์ เพราะนักวิชาการแต่ละคนก็จะเอาข้อมูลแต่ละจุดมาโจมตีข้อด้อย ข้ออ่อนของแต่ละแนวทางการรักษา แต่เราต้องมองภาพใหญ่ว่า สถานการณ์การล้างไตในช่องท้อง หากพบการเสียชีวิต การติดเชื้อมากขึ้นเพราะอะไร หรือวิธีนี้เอื้อให้เกิดคุณภาพชีวิตดีขึ้นแค่ไหน ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์แล้ว หากจะทำอะไรต่อ ก็ต้องมาพัฒนาร่วมกัน เช่น ถ้าติดเชื้อมากจะพัฒนาคนไข้อย่างไร หรือองค์ความรู้ในการรักษาดูแลควรจะเป็นอย่างไร
นพ.อดิศร กล่าวว่า สิ่งสำคัญประเทศไทยจะเดินไปทางไหนต่อการรักษาโรคไต จะให้คนไข้เลือกหรือ ให้หมอเลือก ตรงนี้ขอตอบว่า เมื่อเราอยู่ในประเทศไทย เงินทุกบาทมาจากภาษีประชาชน ฉะนั้นการรักษาอะไรก็ตามต้องได้คุณภาพมีมาตรฐาน และเงินงบประมาณในส่วนที่มีต้องไม่ไปกระทบกระเทือนต่อการรักษาพยาบาลในโรคอื่น และไม่กระทบต่องบประมาณของประเทศชาติจนเกินไป
"การรักษาหรือจะบังคับในแนวทางไหน มันต้องมองและทำเป็นยุทธศาสตร์ให้ครบทุกมิติ แต่ถ้าจะมองแค่มิติเดียว โดยไม่มองมิติอื่นก็จะมีผลกระทบโดยเฉพาะต่องบประมาณในการพัฒนาประเทศ" แพทย์โรคไต รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงทางแก้ดีที่สุดเมื่อเป็นไตวาย คือ การปลูกถ่ายไตจากนั้นก็ฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งตามการบ่งชี้ทางการแพทย์ การจะเลือกว่าจะล้างไตทางช่องท้องหรือฟอกเลือด ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการล้างไตทางช่องท้อง หรือไม่มีการข้อห้ามในการฟอกเลือด การรักษาทั้ง 2 วิธีก็สามารถทำได้ แต่ถ้าคนไข้มีข้อห้ามของการฟอกเลือด เช่น การทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ หรือ มีน้ำเกินในร่างกายมาก ตรงนี้การล้างในช่องท้องเป็นประโยชน์มากกว่าการฟอกเลือด
- 12 views