เตรียมปรับระบบจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์รวมระดับประเทศ เผย ปี 61 มอบ สธ.ทำหน้าที่ผู้ซื้อ หลัง กม.บัตรทองไม่เอื้อ สปสช. แต่คงเป็นหน่วยงานหลักวางแผน จัดระบบ และกำกับยอดซื้อ ในฐานะริเริ่มระบบและของบประมาณสนับสนุน ด้าน “หมอปิยะสกล” ย้ำ ประชาชนต้องได้รับบริการเหมือนเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ภาคประชาชนห่วงอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วย แนะต้องมีมาตรการรองรับความเสี่ยง
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานประชุม ได้มีวาระพิจารณาการจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอวัยวะเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายหลังจากเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมหารือเพื่อหาแนวทางการดำเนินการ ในปี 2560 และ 2561 จากกรณีที่มีข้อทักท้วงว่าตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไม่ได้มอบอำนาจให้ สปสช.ดำเนินการได้ ซึ่งจะนำหารือต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุปชัดเจนในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ในการประชุม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช.ได้เสนอให้เลื่อนวาระนี้ออกไปในการประชุมบอร์ดครั้งหน้าในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปการหารือกับรองนายกรัฐมนตรีก่อน โดยจะนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.คราวเดียวกัน สำหรับผลการหารือเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่จะหารือต่อรองนายกรัฐมนตรีมี 2 ประเด็น คือ
1.ปี2560 การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ฯ ในระบบยังคงปฏิบัติเช่นเดิม โดยให้ สปสช.ยังสามารถดำเนินการจ่ายค่ายาและเวชภัณฑ์ให้กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเสียหาย
2.ปี 2561 จะมีการปรับกระบวนการเพิ่มความโปร่งใสและการยอมรับร่วมกัน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกระบวนการตั้งแต่ต้น และแบ่งหน้าที่ชัดเจน เพื่อลดปัญหาข้อกฎหมายในระหว่างการรอข้อยุตินี้ก่อน
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ฯ ในปี 2560 สปสช.ยังคงดำเนินการต่อ แต่ในปี 2561 สธ.จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งกระบวนการขณะนี้ คือ 1.ต้องดูเรื่องปริมาณยา 2.จัดทำข้อกำหนดและเงื่อนไขการจัดซื้อ และ 3.เริ่มกระบวนการต่อรอง โดยเรื่องนี้ต้องเข้ามาช่วยกัน 3 ฝ่าย ทั้ง สปสช. อภ. และ สธ. ซึ่ง สปสช.ไม่ใช่ทิ้งเลย แต่ทำอย่างไรที่จะเริ่มกระบวนการปี 2561 เพื่อให้ได้ยาและเวชภัณฑ์ฯ ซึ่งระบบที่ดำเนินการดีอยู่แล้วเพียงแต่ปรับอีกนิดหน่อย
ขณะที่ นางชุมศรี พจนปรีชา กรรมการ สปสช.สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ประเด็นปี 60 เห็นด้วยเพราะในปี 60 เหลือเพียงแค่ 6 เดือน ความจำเป็นในการใช้รักษาจึงต้องต่อเนื่อง ดังนั้นวิธีการเดิมจึงเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไป ส่วนในปี 61 มีข้อสรุปชัดเจนคือต้องหาวิธีการใหม่ แต่ไม่ใช่ข้อสรุปว่า สธ.จะเป็นเจ้าภาพ จำได้ว่าในวันนั้นตนเองเป็นคนนำเสนอว่า เรื่องนี้ต้องเป็นความร่วมมือกันทั้งคนขาย คนซื้อ และคนคุมแผนงาน จึงเสนอว่า สปสช.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานริเริ่มระบบมาตั้งแต่ต้นและเป็นผู้ของบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายนี้ สปสช.จึงยังต้องเป็นหน่วยงานหลักในการวางแผน วางระบบ และกำกับยอดปริมาณการซื้อ ส่วนผู้ซื้อต้องเป็น สธ.เพราะมีกฎหมายรองรับให้ทำหน้าที่หน่วยจัดซื้อ แต่วิธีการเป็นอย่างไรคงต้องมาหารืออีกครั้ง
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในปี 2560 ไม่มีข้อสรุปอื่นคือ สปสช.ยังคงต้องทำหน้าที่จัดซื้อก่อน แต่ในปี 2561 นั้น ด้วยกฎหมายไม่อนุญาตให้ สปสช.จัดซื้อ การจะดำเนินการเช่นเดิมคงไม่ได้ ซึ่งเมื่อดูตามกฎหมาย สธ.จะต้องทำหน้าที่จัดซื้อ ปีหน้าจึงเป็นช่วงการผลัดเปลี่ยน โดยอยู่บนหลักการที่ตั้งไว้ว่าประชาชนต้องคงได้บริการเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม ซึ่งที่ผ่านมาได้สั่งการไปยัง สธ.เพื่อให้เตรียมการ ขณะที่ สปสช.เองต้องเตรียมที่จะผ่องถ่าย อีกทั้งคณะกรรมการยาแห่งชาติเองที่ผ่านมาก็มีมติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการต่อรองราคายาแห่งชาติ ซึ่งเป็นชุดที่จะต่อรองราคายาเฉพาะยาที่มีข้อจำกัดต่อการเข้าถึง เป็นการสร้างกระบวนการใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรสุดท้าย สธ.ก็ต้องเป็นผู้ซื้อ และต้องเริ่มประสานการทำงานทั้ง 3 หน่วยงาน สธ. สปสช. และ อภ. ก่อนเริ่มงบประมาณในปี 2561 เดือนตุลาคมนี้
“อนาคต สธ.ต้องรับเป็นเจ้าภาพจัดซื้อ และในการประชุม สธ.ที่ผ่านมา ผมก็ได้บอกว่า สธ.เองต้องไม่ซ้ำรอยเดิมในการกระจายยาออกไปสู่ระบบ ต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพ นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันเพื่อประโยชน์ประชาชน” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมนี้ได้มีกรรมการ สปสช.สัดส่วนภาคประชาชนได้แสดงความเป็นห่วง เนื่องจากมีข้อกังวลใจของภาคประชาชนและผู้ป่วยว่า การปรับเปลี่ยนระบบจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ครั้งนี้อาจส่งผลกระทบการเข้าถึงได้ จึงอยากให้มีการมองถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย และควรมีแผนการจัดการความเสี่ยงเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจ
- 3 views