กรมสนับสนุนบริการสุขภาพยกระดับผู้ช่วยแพทย์แผนจีนที่สั่งสมภูมิปัญญาประสบการณ์การรักษามาจากบรรพบุรุษ ครอบครัว หรือจากหมอจีน ที่ไม่ใช่หลักสูตรจากสถาบันการศึกษาที่กรม สบส.รับรอง ให้สามารถใช้ยาสมุนไพรจีนรักษาเบื้องต้น ฝังเข็ม นวด รมยาบำบัด 15 อาการ เช่น ปวดข้อ ท้องอืด ไข้หวัด อัมพฤกษ์ อัมพาตเรื้อรัง ต้องปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์แผนจีนหรือแพทย์แผนปัจจุบันในโรงพยาบาลหรือคลินิกตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2555 และกำหนดเกณฑ์การต่ออายุหนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพทุก 5 ปี
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส.ได้ดำเนินการยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนจีนที่ไม่มีคุณวุฒิจบจากหลักสูตร 5 ปี จากสถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่กรม สบส.รับรองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้มาจากบรรพบุรุษ หรือจากผู้ที่มีความรู้โดยตรง เช่นเดียวกับหมอพื้นบ้านไทย เพื่อให้บุคลากรกลุ่มนี้ได้เข้าสู่ระบบการบริการที่มีมาตรฐาน
โดยกรม สบส.ได้ร่วมกับสถาบันการแพทย์แผนจีน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดหลักสูตรอบรมพัฒนาความรู้ในด้านวิชาชีพ ตามที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนจีนกำหนดจำนวนไม่ต่ำกว่า 120 ชั่วโมง โดยออกหนังสือรับรองการผ่านหลักสูตรอบรม และยกระดับให้เป็นผู้ช่วยแพทย์แผนจีน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย ขณะนี้มีผู้ได้รับหนังสือรับรองทั้งหมด 342 คนทั่วประเทศ กำหนดให้ต่ออายุหนังสือรับรอง ทุก 5 ปี
นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า ในการปฏิบัติงานของผู้ช่วยแพทย์แผนจีนดังกล่าว จะต้องดำเนินการภายใต้ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2555 ที่ออกตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 สามารถให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นโดยใช้ยาสมุนไพรจีน และให้บริการบำบัดโรคและอาการ 4 กลุ่มโรค รวม 15 อาการ ด้วยวิธีการฝังเข็ม นวดทุยนา รมยา ได้แก่
1.อาการปวดศีรษะจากความเครียด ปวดเมื่อยทั่วไป ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเอว ที่ไม่ใช่มาจากกระดูกแตก หรือจากกระดูกเคลื่อนอย่างรุนแรง
2.อาการท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก อาหารไม่ย่อย
3.ไข้หวัด ไอ เจ็บคอ
และ 4.อัมพฤกษ์ อัมพาตเรื้อรัง
โดยต้องปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนหรือแพทย์แผนปัจจุบันที่ได้รับการอบรมเพิ่มเติมด้านการแพทย์แผนจีนในโรงพยาบาลหรือคลินิกแพทย์แผนจีนที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ. 2541
สำหรับการต่ออายุหนังสือรับรอง กรม สบส.ได้ออกประกาศคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนจีน พ.ศ. 2559 กำหนด หลักเกณฑ์การต่ออายุหนังสือรับรองการผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยการแพทย์แผนจีนทุกคน จะต้องมีผลการปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยแพทย์แผนจีน ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน หรือแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือได้รับการอบรมหรือเข้าร่วมประชุมสัมมนาความรู้เกี่ยวกับการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง หรือเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนลงในวารสาร นิตยสาร เอกสารเผยแพร่ที่คณะกรรมการวิชาชีพฯ รับรอง หรือเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่การเป็นผู้ช่วยแพทย์แผนจีน โดยกำหนดให้ยื่นขอที่กรม สบส.ภายใน 30 วันก่อนก่อนหนังสือรับรองหมดอายุ โดยกรม สบส.จะพัฒนาบุคลากรกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ล่าสุดปี 2558 มีสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนเปิดให้บริการการแพทย์แผนจีนรวม 468 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นสถานพยาบาลภาครัฐ 357 แห่ง ที่เหลืออีก 111 แห่งอยู่ในภาคเอกชน บริการรักษาด้านการแพทย์แผนจีนที่เปิดดำเนินการในประเทศขณะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการฝังเข็มบรรเทาอาการปวดต่างๆ มีผู้ประกอบการโรคศิลปะสาขานี้ขึ้นทะเบียนทั่วประเทศ 835 คน
- 331 views