“ตอนนั้นยังสูบบุหรี่อยู่ เวลาจะไปสอน ไปบอกใครให้เลิกบุหรี่ มันก็ยังพูดไม่ได้เต็มปากมากนัก เพราะเราเองก็ยังสูบอยู่W นายมงคล เงินแจ้ง ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านวังมะด่าน อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เจ้าของฉายา “หมออนามัยหักดิบ” ผู้ที่ประกาศตนเองเป็นคนแรกของโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน เล่าย้อนถึงอดีตเมื่อครั้งที่ยังสูบบุหรี่อยู่

นายมงคล เล่าว่า สูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 19 ปี สูบบุหรี่มาแล้ว 36 ปี สาเหตุที่สูบ คือ เพื่อนชักชวน และตัวเองก็อยากสูบตามเพื่อด้วย ค่านิยมของคนยุคนั้นคือ คนที่สูบบุหรี่จะดูเป็นผู้ใหญ่ มีพื้นที่ให้สูบบุหรี่มากมาย จะสูบตรงไหนก็ได้ หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง ตอนนั้นสูบวันละ 1 ซอง แต่ถ้ารวมค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับเรื่องพวกนี้ตกประมาณเดือนละ 2,500 บาท

สำหรับสาเหตี่ทำให้เลิกสูบบุหรี่ คือ ในวันที่ 26 เมษายน 2559 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาชวนให้ทำกิจกรรมโครงการ “3ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” จำได้ดีเลยว่า นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส.ได้มาร่วมงานด้วย ในวันนั้นตนได้ประกาศเลิกสูบบุหรี่แบบหักดิบเป็นคนแรกเลย พร้อมสาบานจะเลิกสูบบุหรี่ตลอดชีวิต เพื่อให้ตัวเองได้เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ทำให้คนเห็นว่าตนเองก็เลิกได้ จนได้รับฉายาจากชาวบ้านและเพื่อนร่วมงานว่า “หมออนามัยหักดิบ”

“ช่วงแรกของการเลิกสูบบุหรี่ใหม่ๆ บอกได้เลยว่าทรมานมาก น่าจะเหมือนคนลงแดงนะ แต่ก็พยายามหาทางออกด้วยการกินผลไม้รสเปรี้ยวแทน ผ่านไปได้ 1 สัปดาห์ อาการดังกล่าวก็หายไป สิ่งที่ได้กลับมาที่เห็นได้ชัด คือลูกสาวบอกว่าเวลาที่พ่อพูดแล้วไม่มีกลิ่นบุหรี่ออกมา ส่วนสิ่งที่เห็นข้อดีของการเลิกสูบบุหรี่คือ ไม่มีอาการระคายคอหรือไอเหมือนครั้งที่สูบบุหรี่อยู่ ทำให้มีความมั่นใจในการเข้าสังคมมากขึ้น ได้รับคำชื่นชมจากคนรอบข้างและสามารถเป็นแบบอย่างให้คนอื่นได้”

สำหรับวิธีการเลิกบุหรี่ที่นายมงคลนำมาใช้ในพื้นที่ คือ หากลุ่มคนที่สนใจและอยากเลิกสูบบุหรี่ด้วยความสมัครใจมาเข้าร่วมโครงการ โดยมีกิจกรรมที่ใช้ในการขับเคลื่อนคือ

1.การท้าชวนดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่ทั้งหมู่บ้าน (1 คนท้าชวน 1 คนที่ให้เลิกสูบ = 1 คนเลิกสูบแล้ว ท้าชวน 1 คนเลิกสูบต่อเนื่องไป = 1 ทวีคูณ)

2.การจัดรายการวิทยุออนไลน์ให้ความรู้ แลกเปลี่ยนกับผู้มีประสบการณ์การเลิกบุหรี่

3.จัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติ คนชวนคนเลิกบุหรี่ + คนเลิกสูบบุหรี่ต้นแบบในระดับจังหวัด และจัดระบบการป้องกัน

4.การให้กำลังใจ และการป้องกันการกลับไปสูบซ้ำ

5.การจัดเก็บข้อมูลผู้เข้ารวมกิจกรรมเลิกสูบบุหรี่ และรายงานผลอย่างต่อเนื่องผ่านระบบ LRM (Line report management) ซึ่งการประเมินผลหากสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้เกิน 6 เดือน ถือว่าเลิกได้สำเร็จ

ส่วนแนวทางปฏิบัติ 9 ที่ให้ไว้กับ อสม. คือ

1.ค้นหา สำรวจ และจำแนก เป้าหมายคนที่จะชวนเลิกสูบบุหรี่

2.หาแรงจูลใจเพื่อชวนให้ติดสินใจเลิกสูบบุหรี่เด็ดขาด (หักดิบ/เลิกด้วยใจ)

3.ให้ข้อมูลด้านลบของการสูบบหรี่

4.แนะนำให้ปฏิบัติเทคนิคการเลิกสูบบุหรี่ที่ง่ายและได้ผล

5.แนะนำอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

6.ติดตามเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ

7.ทำกิจกรรมสนับสนุนการเลิกสูบ

8.แนะนำบริการช่วยเลิกบุหรี่

และ 9.จัดกิจกรรมชื่นชมและเชิดชู

เมื่อถามว่าวิธีใดจะทำให้เลิกสูบหรี่ได้ง่ายที่สุด เจ้าของฉายาหมออนามัยหักดิบบอกว่า วิธีหักดิบ น่าจะเป็นวิธีที่เห็นผลได้ดีที่สุด ซึ่งอาจจะทรมานในช่วงแรกๆ แต่ถ้ากำลังใจดีแล้ว เชื่อว่าอะไรก็ไม่สามารถทำให้กลับไปสูบบุหรี่ได้อีก ส่วนคนที่ใช้วิธีลดปริมาณการสูบลง ในความคิดของตนแองชื่อว่าน่าจะทำให้เลิกได้ยากกว่าการหักดิบ เพราะเราอาจมีโอกาสเพิ่มปริมาณการสูบโดยไม่รู้ตัวได้ เช่น ระหว่างทำงานที่มีความเครียด หรืออยู่ในกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่ด้วยกัน

“สิ่งที่ตนได้กลับมาในวันนี้คือ สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น ลูกๆ กลับมาใกล้ชิดพ่อมากขึ้นเพราะไม่เหม็นกลิ่นบุหรี่ มีเงินเหลือมากขึ้น ผมอยากให้คนที่ยังสูบบุหรี่ หันมารักตัวเองด้วยการเลิกสูบบุหรี่กัน แล้วจะรู้ว่า การเลิกสูบบุหรี่มันดีอย่างไรกับตัวเอง” หมอนามัยหักดิบ กล่าวทิ้งท้าย