รพ.สต.นามะเฟือง ตั้งอยู่ใน ต.นามะเฟือง อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู ถือเป็น รพ.สต.ขนาดใหญ่ ดูแลประชากรหมื่นกว่าราย และมีจุดเด่นคือ ผู้อำนวยการ รพ.สต.ในอดีตได้วางรากฐานการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาชนไว้อย่างดี ประกอบกับมีการพัฒนามาตามลำดับ โดยเริ่มเข้าสู่กระบวนการพัฒนาคุณภาพ PCA ในปี 2556 และพัฒนาจนเป็น รพ.สต.ติดดาวในปัจจุบัน
“ทิชากร แก้วอัคฮาด” ผู้อำนวยการ รพ.สต.นามะเฟือง กล่าวว่า ในช่วงแรกที่เข้าสู่กระบวนการประเมิน บอกได้เลยว่าไม่มีใครมีความสุขในการทำงาน เพราะต้องใช้งบประมาณมาสนับสนุน ต้องเตรียมงานรองรับการประเมิน ต้องปรับปรุงโครงสร้างอาคาร อย่างไรก็ดี แม้การรับการประเมินจะค่อนข้างลำบาก แต่อีกมุมก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะถือเป็นการพัฒนาตนเองทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ องค์ความรู้ และพอมีพอเกณฑ์ข้อไหนที่ทำได้สำเร็จ ก็รู้สึกมีความสุขตามไปด้วย
“ถ้าไม่มีเกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาวเกิดขึ้น ก็จะไม่รู้เลยว่าใน รพ.สต.มีการจัดการเป็นระบบระเบียบขนาดไหน เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ ดังนั้น เกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาว จะเป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยเติมเต็มในส่วนขาด เพื่อเพิ่มการพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น” ผู้อำนวยการ รพ.สต.นามะเฟือง กล่าว
ทิชากร กล่าวอีกว่า กระบวนการทำงานเริ่มต้นของ รพ.สต. เริ่มจาก PCA หมวดที่ 3 การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย เริ่มเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดลำดับความสำคัญปัญหาสุขภาพในพื้นที่ จากนั้นจึงเริ่มออกแบบว่าจะมีผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มใดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเชิญภาคีเครือข่ายมาร่วมกำหนดบทบาทวางแผนแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ในชุมชนมีปัญหาสุขภาพ 5 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการใช้สารเคมี ปัญหาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาหาร การดูแลผู้ป่วย NCDs และปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาอันดับแรกเรื่องการใช้สารเคมีนั้น จากการคัดกรองพบว่า มีกลุ่มเสี่ยงพบสารตกค้างในเลือดถึง 90% ทางชุมชนจึงตั้งคำถามว่า ทำไมต้องรับประทานผักที่มีสารเคมี และเริ่มการทำเกษตรอินทรีย์ในหมู่บ้านเพื่อให้ได้ผักปลอดสารเคมี และผลลัพธ์ที่ตามมาก็ส่งผลให้ความเสี่ยงลดลงเหลือ 36% เช่นเดียวกับประเด็นความปลอดภัยทางอาหาร ตลาดสดนามะเฟืองเป็นตลาดสดน่าซื้อระดับดีมากของกรมอนามัย
ทั้งนี้ หลังจากประสบความสำเร็จใน PCA หมวดที่ 3 แล้ว จึงขยับมาทำเรื่อง PCA หมวดที่ 6 การจัดระบบบริการ ทั้ง 2 หมวดนี้เป็นตัวนำในการขับเคลื่อน จนทำให้ปี 2556 รพ.สต.ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ 4 ดาว และใช้เวลาพัฒนาอีก 3 ปีจนได้รับการประเมินเป็น 5 ดาว ในปี 2559
ทิชากร กล่าวว่า ในขั้นตอนการพัฒนาการจัดระบบริการนี้ รพ.สต.นามะเฟืองได้รับการสนับสนุนทั้งเรื่องเงิน คน สิ่งของ และการพัฒนาระบบงานจากแม่ข่าย ทั้งจากโรงพยาบาลหนองบัวลำภู สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เช่น ระบบการดูแลจากทีมหมอครอบครัว มีการส่งทีมสหวิชาชีพออกมาร่วมกับทีม รพ.สต. และทีม อสม.ในการออกเยี่ยมบ้านประชาชน การส่งต่อผู้ป่วย การติดต่อเยี่ยมเคส หาก รพ.สต.เจอเคสที่ซับซ้อนต้องได้รับการดูแล ก็จะประสานไปโรงพยาบาลและได้รับการช่วยเหลืออย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ทาง CUP ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง คอยให้คำปรึกษา เช่น เรื่องยา ก็มีเภสัชกรเข้ามาติดตามงานอย่างต่อเนื่อง เรื่องงาน IC ก็มีพี่เลี้ยงจากโรงพยาบาลเข้ามาดู ตั้งแต่เรื่องขยะติดเชื้อ การทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ จนได้เกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งการพัฒนาจะไปทั้งขบวนทั้ง CUP มีการแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันระหว่าง รพ.สต. ทำให้เกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน เวลาเห็นสิ่งดีๆ จากที่อื่นก็เอามาปรับปรุงให้เข้ากับ รพ.สต.ของตัวเอง
“ช่วงที่เราทำ PCA เรื่องสารเคมีตอนนั้นก็มีสะดุด ตอนแรกการสื่อสารกระบวนการไม่ดี เพราะเป็นเรื่องใหม่ เรายังไม่เข้าใจกระบวนการ จึงได้รับพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลเรื่องกระบวนการ ให้ รพ.สต.อื่นมาหาข้อมูล สัมภาษณ์ในชุมชนให้เรา เพื่อไม่ให้มีอคติในการเก็บข้อมูล แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้ข้อมูลไปพร้อมๆ กัน อีกเรื่องหนึ่งคือ การสร้างห้องน้ำให้เป็นสัดเป็นส่วน แยกผู้ป่วย แยกผู้พิการ ด้วยความที่งบประมาณเรามีน้อย ทางเทศบาลก็เข้ามาช่วยสร้างห้องน้ำให้ ห้องยาก็เช่นเดียวกัน งบประมาณอย่างเดียวก็คงไม่พอ เราเลยทำผ้าป่าชุมชนมาช่วยกัน บางคนก็บริจาคเป็นปูนเป็นกระเบื้อง ช่างก็มาช่วยทำให้โดยไม่คิดเงิน เราเลยได้ห้องยาใหม่ ห้องน้ำใหม่ที่เป็นสัดส่วนตามเกณฑ์มาตรฐาน” ทิชากร กล่าว
ทิชากร กล่าวต่อไปว่า การได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในลักษณะนี้ เนื่องจากพื้นฐานของตำบลนามะเฟืองจะเน้นการทำงานโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน มีกลุ่มจิตอาสาต่างๆ ทั้ง อสม. กลุ่มผู้สูงอายุ ชมรมพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ฯลฯ และประสานงานขับเคลื่อนประเด็นร่วมกันผ่านธรรมนูญสุขภาพตำบล แปลงไปสู่การปฏิบัติ
ผู้อำนวยการ รพ.สต.นามะเฟือง ขยายความว่า การทำงานในกิจกรรมทุกอย่างจะมาจากชุมชน ไม่ใช่แค่ รพ.สต.คิดเอง ดังนั้น ภาคีเครือข่ายที่จะเข้ามาช่วย รพ.สต.จึงมีค่อนข้างเยอะ รวมทั้งกลุ่ม อสม.ก็จะดูแลกันแบบพี่แบบน้อง เราช่วยเขา เขาช่วยเรา ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว อีกกลุ่มก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งคอยช่วยเหลือ รวมทั้งกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คอยช่วยเหลือในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้
“จุดเด่นของเรา เรามีต้นทุนที่ดี มีชมรมมีแกนนำต่างๆ ที่ช่วยในการพัฒนา กิจกรรมต่างๆ ไม่ใช่ออกจากเรา แต่ชุมชนริเริ่มเอง โดยเราช่วยสนับสนุนด้านวิชาการต่างๆ อย่างเช่น ชุมชนวิตกกังวลเรื่องบุตรหลานไปเที่ยวก่อเรื่องทะเลาะวิวาท ก็เลยมีการตั้งสภาเด็กและเยาวชนตำบลนามะเฟือง ซึ่งตอนนี้ต่อยอดเป็นชมรมทูบีนัมเบอร์วัน เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี 2547 เราเปลี่ยนหัวหน้า รพ.สต.ถึง 5-6 คน แต่ก็ยังสามารถพัฒนาต่อยอดได้ เพราะมีทุนทางสังคมอยู่แล้ว” ผู้อำนวยการ รพ.สต.นามะเฟือง กล่าว
ทั้งนี้ หากให้สรุปบทเรียนและปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาสู่การเป็น รพ.สต.ติดดาว ทิชากร มองว่า หากเป็นในส่วนของมาตรฐานงานพยาบาล ปัจจัยความสำเร็จคือ การสนับสนุนจากแม่ข่ายทั้งวิชาการและวัสดุอุปกรณ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด จะผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ขึ้นอยู่กับจุดนี้เป็นหลัก หากพื้นที่ไหนทาง CUP สสอ. สสจ. ไม่เห็นความสำคัญก็จะลำบากในการพัฒนา
ขณะเดียวกัน การปรับปรุงในแต่ละเกณฑ์ ก็ต้องดูบริบทด้วย พื้นที่ในเขตเมืองกับชนบททุรกันดารก็ต่างกัน จำนวนเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานแต่ละจุดก็ต่างกัน มาตรฐานที่มาประเมินในเขตชนบทจะให้ได้ตามพื้นที่ในเมืองคงลำบาก สิ่งที่ควรทำแรกๆ คือพัฒนาพื้นฐานให้ได้ก่อน ถ้า รพ.สต.ยังขาดคน ก็ยังไม่ควรไปทำการประเมิน 5 ดาว แต่ให้สนับสนุนเรื่องกำลังคนก่อน เป็นต้น
นอกจากนี้ เกณฑ์การประเมินควรมีความต่อเนื่องหรือระยะเวลาที่นานระดับหนึ่ง เพราะปัญหาที่เจอคือ เกณฑ์ในการประเมินแต่ละครั้งแต่ละรอบจะเปลี่ยนไปหมด พอเกณฑ์ไม่นิ่งทำให้การพัฒนาสะดุด เช่น พอทำเรื่องนี้ไม่ถึงครึ่งก็ต้องกระโดดมาทำอีกเรื่องหนึ่งตามเกณฑ์ใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่อยากจะฝากไปยังพื้นที่อื่นๆ คือ 1.เรื่อง ัน ำบากะเมินในเขตชนบทจะให้เป๊ะนี้เป็นหลักนตัว
ต.ของตัวเอง รพ.สต.ติดดาว เป็นนโยบาย ทางทางจังหวัด ทางอำเภอ ต้องมีใจพร้อมดำเนินการ เมื่อหัวกระดิก หางก็ส่ายได้ 2.ทีมนำเป็นตัวขับเคลื่อนงานได้เพื่อความสำเร็จ 3.พื้นที่ก็ต้องพร้อมที่จะรับสิ่งที่เข้ามาใหม่ ทั้งหมดก็คือ ผู้บริหาร ทีมนำ และในพื้นที่ต้องพูดคุยกันว่าพร้อมจะขับเคลื่อนไปร่วมกันได้หรือไม่ อย่าฝืนทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ อยากให้จับเข่าคุยกันงานถึงจะไปได้
- 112 views