สธ.ถกเพิ่มมาตรการความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ปลัดกระทรวงเตรียมร่อนหนังสือถึง สสจ.ทั่วประเทศ ขอความร่วมมือระดับพื้นที่จัดงบจากโรงพยาบาลช่วยติดตั้งกล้องวงจรปิดและไซเรนให้ รพ.สต.
นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำโดย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2560 เพื่อหารือการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ รพ.สต.แห่งหนึ่งใน อ.เซกา จ.บึงกาฬ ถูกทำร้ายร่างกายขณะอยู่เวรนอกเวลาโดยวัยรุ่นในพื้นที่เมื่อเร็วๆ นี้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า บรรยากาศการประชุมเป็นไปในทิศทางที่ดี เบื้องต้นจะอนุมัติให้น้องผู้เสียหายย้ายไปประจำอยู่ที่ จ.อุดรธานี ตามคำขอ ส่วนการบรรจุเข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษนั้น ทางกระทรวงจะไปดูรายละเอียดข้อกฎหมายว่ามีวิธีไหนที่เปิดช่องให้น้องผู้เสียหายสามารถบรรจุเข้ารับราชการได้บ้าง
ในส่วนของการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยใน รพ.สต.นั้น ได้มีการพูดถึงการติดตั้งกล้อง CCTV การติดตั้งไซเรนหรือเสียงสัญญาณ ตลอดจนการวางมาตรการประสานกับชุมชนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการให้บริการมากขึ้น โดยนพ.โสภณ จะทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้ดูในเรื่องนี้
“ทางผู้ใหญ่ยังไม่ฟันธงเพราะการประสานต้องประสานไปในระดับของจังหวัด ระดับโรงพยาบาล ระดับ สสจ.อีกชั้นหนึ่ง เนื่องด้วยข้อจำกัดของกระทรวงที่ไม่มีงบโดยตรง ก็จะพยายามให้พื้นที่บริหารจัดการ หลังจากนี้ท่านปลัดกระทรวงจะมีหนังสือขอความร่วมมือถึง สสจ.ทุกจังหวัด ให้จัดสรรงบประมาณในการติดตั้งกล้อง ติดตั้งไซเรนโดยใช้งบประมาณของโรงพยาบาล” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงสร้างอัตรากำลังบุคลากร รพ.สต. ที่ผ่านการพิจารณาของ อ.ก.พ.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้วนั้น ทาง นพ.โสภณ รับปากว่าจะช่วยดูแลให้ โดยคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุขในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ และคาดว่าน่าจะผ่านไปได้ นอกจากนี้ ยังจะมีการแก้ไขระเบียบเงินบำรุงให้ รพ.สต.จัดจ้างได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจัดจ้างต้องมีเงินด้วยซึ่งตรงนี้ไม่มีการรับปากอะไร
อนึ่ง ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) และ ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทยได้จัดทำข้อเสนอมาตรการจัดระบบความปลอดภัยและการแก้ไขปัญหาพร้อมการเยียวยาแก่เจ้าหน้าที่ประจำ รพ.สต. และเสนอแก่ นพ.โสภณในการประชุมในครั้งนี้ โดยข้อเสนอที่เป็นมาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย
มาตรการเฉพาะตัว
1. ให้การเยียวยาสร้างขวัญกำลังใจ ตามระเบียบฯ และกฎหมาย
2. ให้ย้ายสถานที่ปฏิบัติงานตามความประสงค์ (กลับภูมิลำเนา)
3. พิจารณาความดีความชอบอื่น (เป็นกรณีพิเศษ)
4. บรรจุแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ (เป็นกรณีพิเศษ)
มาตรการบริหารจัดการ
1. ให้ทุกหน่วยบริการแนะนำทำความเข้าใจกับชุมชน ในการใช้บริการสายด่วน 1669 โดยดึงพลังการมีส่วนร่วมของชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปพร. และภาคีเครือข่าย
2. ให้กระทรวงสาธารณสุข / โรงพยาบาลแม่ข่าย (CUP) สนับสนุนงบประมาณ งบลงทุน เพื่อการติดตั้งสัญญาณเสียงไซเรน ที่มีความดังสูงให้แก่หน่วยบริการทุกแห่ง ภายในปีงบประมาณ 2560
3. ให้กระทรวงสาธารณสุข / โรงพยาบาลแม่ข่าย (CUP) สนับสนุนงบประมาณ งบลงทุน เพื่อการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้แก่ หน่วยบริการทุกแห่ง ภายในปีงบประมาณ 2560
4. ให้กระทรวงสาธารณสุข / โรงพยาบาลแม่ข่าย (CUP) สนับสนุนงบประมาณ จัดจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย (จ้างเหมาบริษัท) ให้แก่หน่วยบริการทุกแห่ง ภายในปีงบประมาณ 2560
มาตรการด้านโครงสร้างอัตรากำลังบุคลากร
1. ให้ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาอนุมัติ โครงสร้างอัตรากำลังบุคลากร รพ.สต. ที่ผ่านการพิจารณาของ อ.ก.พ.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เพื่อประโยชน์ต่อการจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิแก่ประชาชน
2. ให้กระทรวงสาธารณสุข เสนอต่อรัฐบาล เพื่ออนุมัติตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อบรรจุ แต่งตั้งให้เป็นไปตามกรอบโครงสร้างอัตรากำลัง เพื่อบริการประชาชนให้เป็นไปตามมาตรฐานของหน่วยบริการ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ภายในระยะที่ 2 ของแผนยุทธศาสตร์ชาติ (ปี 2560 - 2564)
3. ให้กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการจัดจ้างบุคลากร พนักงานราชการ ลูกจ้างเงินบำรุง แก่หน่วยบริการ ให้เพียงพอต่อการจัดระบบบริการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข
4. ให้กระทรวงสาธารณสุข สำรวจปรับปรุงระบบฐานข้อมูลบุคลากร ทั้งข้าราชการและลูกจ้างของ รพ.สต. ให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำนวนบุคลากรของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่รับผิดชอบด้านข้อมูลบุคลากร มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตรงกัน
มาตรการด้านการเงินและงบประมาณ
1. กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ควบคุมกำกับ ติดตามประเมินผลให้โรงพยาบาลแม่ข่าย (CUP) สนับสนุนงบประมาณ Fixed Cost ให้เป็นไปตามข้อสั่งการขอความร่วมมือของปลัดกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี2559 ตามขนาด S M L
2. เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการกองหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พิจารณางบประมาณเงินเหมาจ่ายรายหัวงบฯ หลักประกันสุขภาพ (ปี 2560 จำนวน 3,109.87 บาท/หัว) เพื่อจัดสรรเป็นงบส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค (PP) ให้ รพ.สต./สอน. ในจำนวนที่เพียงพอต่อการจัดระบบบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค แก่ประชาชน ด้วยวิธีการโอนตรง ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยชมรม ผอ.รพ.สต.(ประเทศไทย) และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ขอเสนอให้รัฐมนตรี จัดสรรงบประมาณ PP เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค โดยการโอนตรง รพ.สต./สอน. จำนวน 300.-บาท/หัว/ปี
3.ให้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารบ้านพักให้มั่นคงแข็งแรง มีสวัสดิภาพที่ปลอดภัยต่อการเข้าพักอาศัยของเจ้าหน้าที่บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข
4. ให้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการก่อสร้างรั้วอาคาร รพ.สต. / สอน. เพื่อมาตรการความปลอดภัย และความมีสง่าราศีต่อหน่วยบริการของรัฐ
5. ให้โรงพยาบาลแม่ข่าย (CUP) สนับสนุนงบประมาณและบุคลากร เพื่อการปฏิบัติงาน แก่ รพ.สต. ตามมติคณะกรรมการบริหารเครือข่าย
มาตรการด้านการปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมาย
1.เร่งรัดติดตามการปรับปรุงแก้ไขระเบียบเงินบำรุงที่กระทรวงสาธารณสุข ส่งไปให้กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อจักได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศใช้เพื่อถือปฏิบัติต่อไป
2. ปรับปรุงแก้ไขระเบียบการจ้างลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุง ให้เอื้อต่อการจัดจ้างบุคลากรเพื่อการจัดระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ในยุค Thailand 4.0 สอดคล้องกับโครงสร้างอัตรากำลัง รพ.สต. เพื่อตอบสนองความขาดแคลนบุคลากรทั้งสายวิชาชีพ และสายสนับสนุน (ข้าราชการ) โดยให้หัวหน้าหน่วยบริการ (ผอ.รพ.สต.) ใช้ดุลยพินิจในการจัดจ้างได้ตามกรอบโครงสร้างอัตรากำลัง
3. ปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยบุคคลซึ่งมอบหมายให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2539 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
4. เร่งรัดการพิจารณากำหนดขอบเขตอำนาจของคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 897/2559 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม2559เรื่องการมอบหมายให้ข้าราชการเป็นผู้บังคับบัญชา แล้วแจ้งเวียนให้ถือปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษร ระหว่างผู้ปฏิบัติ และผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ เพื่อจักได้มีความเข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะอำนาจการเป็นผู้บังคับบัญชาของ ผอ.รพ.สต./ หัวหน้าสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันกับผู้บังคับบัญชาที่เหนือระดับขึ้นไป (สสอ.)
5. ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการจัดทำประกันภัยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ราชการ ให้สามารถใช้เงินบำรุงทำประกันภัยได้
6. ให้กระทรวงสาธารณสุข มีระเบียบว่าด้วยการเปิดให้บริการประชาชนด้านการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข ของหน่วยบริการปฐมภูมิในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
มาตรการด้านการบริหารจัดการการอยู่เวรปฏิบัติหน้าที่ราชการนอกเวลาราชการ
1.ให้แต่ละหน่วยบริการมีคณะกรรมการบริหารหน่วยบริการ พิจารณาให้ความเห็นชอบการเปิดให้บริการนอกเวลาราชการ โดยคณะกรรมการบริหารหน่วยบริการ จะต้องมีผู้แทนชุมชนร่วมด้วย
2.การอยู่เวรปฏิบัติหน้าที่ราชการนอกเวลาราชการ ให้เป็นไปตามบริบทของหน่วยบริการ สภาพปัญหา และความต้องการของชุมชน
3.การออกคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อยู่เวรปฏิบัติหน้าที่ราชการนอกเวลาราชการ ให้เป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยบริการ (ผอ.รพ.สต.) ในการพิจารณาออกคำสั่ง ในฐานะหัวหน้าหน่วยบริการโดยอาศัยอำนาจภายใต้คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 897/2559 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2559 เรื่องมอบหมายให้ข้าราชการเป็นผู้บังคับบัญชา โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารหน่วยบริการ
4.ให้หัวหน้าหน่วยบริการ (ผอ.รพ.สต.) พิจารณาออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. อยู่เวรปฏิบัติหน้าที่ราชการนอกเวลาราชการ เวรละ 2 คน โดยให้มีเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ให้บริการรักษาพยาบาลอย่างน้อย 1 คน หรือมากกว่าตามความจำเป็นและเหมาะสมของหน่วยบริการนั้นๆ โดยคำนึงถึงสถานะเงินบำรุง
5.ระยะเวลาในการอยู่เวรปฏิบัติหน้าที่ราชการนอกเวลาราชการให้เป็นไปตามสภาพปัญหาความต้องการของชุมชนและบริบทของพื้นที่ โดยให้คณะกรรมการบริหารหน่วยบริการพิจารณาให้ความเห็นชอบ
6.จัดให้มีตู้แดง โดยการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปพร. จัดลาดตระเวนตรวจความสงบเรียบร้อยและบันทึกการตรวจเยี่ยม
7.สนับสนุนหน่วยให้หน่วยบริการติดตั้งไฟฉุกเฉิน (Emergency Light)
8.กระทรวงสาธารณสุข ประสานกับกระทรวงมาหาดไทย ในการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่อยู่เวรปฏิบัติหน้าที่ราชการ มีใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน
9.อาจจัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันตนเอง แก่เจ้าหน้าที่ รพ.สต.
- 81 views