ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง ชี้ รอดขาดทุนเพราะไม่รอพึ่งพางบประมาณรัฐอย่างเดียว ปิ๊งไอเดีย "โรงพยาบาลประชาชรัฐ" ดึงเอกชน-ชาวบ้าน-รัฐ รับผิดชอบสุขภาพชุมชน
นพ.วิชัย อัศวภาคย์ (ขอบคุณภาพจาก internet)
นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลน้ำพองเคยประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่องแต่ก็ไม่ถึงกับขาดทุนระดับ 7 ส่วนตัวคิดว่าภาพรวมงบประมาณรายหัวจากกองทุนสุขภาพไม่เพียงพอและควรเพิ่มแต่ก็เข้าใจข้อจำกัดของรัฐบาล ฉะนั้นที่ผ่านมาสิ่งที่โรงพยาบาลทำได้ก็คือการประหยัด ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รู้จักพอเพียง และหารายได้เพิ่มบนหลักการที่ต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงพยาบาลจะพยายามประหยัดทุกอย่าง ทั้งค่าน้ำ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าระบบสาธารณูปโภค ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ฯลฯ แต่ก็ช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้เพียงส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันสิ่งที่ค้นพบก็คือด้วยจำนวนคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้น มีผู้สูงอายุมีมากขึ้น คนอายุยืนขึ้น ลักษณะโรคเปลี่ยนจากโรคติดเชื้อซึ่งรักษาหายทันทีเป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและโรคเรื้อรัง โรงพยาบาลจึงต้องทำงานเชิงรุกด้านการส่งส่งเสริมป้องกันโรค และที่ผ่านมาก็ทำอย่างเต็มที่แล้ว
นพ.วิชัย กล่าวว่า หากแบ่งโรงพยาบาลออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ จะแบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรงพยาบาลที่อย่างไรก็ขาดทุน คืออยู่ในพื้นที่ที่ประชากรน้อยและไม่สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่าย 2.โรงพยาบาลที่ไม่มีทางขาดทุน คือโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เจริญหรือร่ำรวย 3.โรงพยาบาลที่อยู่กลางๆ คือโรงพยาบาลที่บริหารดีก็รอด บริหารไม่ดีก็ขาดทุน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลทั้งหมด
“ตรงนี้อยู่บนการทำงานที่ยากลำบากของโรงพยาบาล และส่วนตัวผมก็ไม่โทษ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ผมคิดว่าเขาได้รับเงินมาเท่านี้ เขามีหน้าที่มาเพื่อบริหารเงินเท่านี้เพื่อให้ชาวบ้านมีความสุข เขาก็ต้องแบ่งด้วยวิธีการใดก็ตามเพื่อให้ดีที่สุด พอมาถึงตรงนี้ผมก็เลยกลับมาคิดและคุยกับ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ว่าอะไรก็ตามที่อยู่บนวงเงินเท่านี้ งบประมาณเท่านี้ แล้วถ้าเราทำแบบเดิมมันไม่มีทางรอดหรอก ถ้าเราเชื่อว่างบมันไม่พอและเข้าใจเงื่อนไขว่าหาจากรัฐไม่ได้ เราก็ต้องหางบจากทางอื่น”นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลน้ำพองไม่ขาดทุนในขณะนี้ เป็นเพราะโรงพยาบาลไม่ได้พึงพาเงินหลวงเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างกรณีการจัดสร้างศูนย์ไต หากรองบประมาณจากรัฐอย่างเดียวก็คงใช้เวลานานและอาจจะไม่ได้ด้วย ฉะนั้นวิธีการที่ทำก็คือขอบริจาคจากวัด จากพระ และจากชาวบ้าน ซึ่งก็ได้ 6-7 ล้านบาท ทำให้เราเปิดศูนย์ได้และได้เครื่องมาถึง 14 เครื่อง
นอกจากนี้ อีกหนึ่งตัวอย่างก็คือปัญหาแพทย์เฉพาะทางไม่ค่อยอยากมาอยู่ในอำเภอ ส่วนตัวจึงหาเงินจากมูลนิธิได้มาประมาณ 3-4 ล้านบาท จากนั้นก็เอาดอกผลมาจ้างแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลไม่มี เช่น แพทย์ศัลยกรรม แพทย์สูตินารีเวช แพทย์ด้านตา ด้านกระดูก ด้านโรคหัวใจ ฯลฯ โดยให้มาเดือนละ 2-4 ครั้ง เป็นพาร์ทไทม์ ซึ่งก็ไม่ได้ใช้เงินหลวง หรือเมื่อ 6-7 ปีก่อน โรงพยาบาลสร้างตึกสงฆ์ 10 ล้านบาท มีห้องพิเศษ 24 ห้อง ก็ไม่ได้ใช้เงินหลวง และขณะนี้กำลังจะสร้างห้องพิเศษ 80 ห้อง งบประมาณ 160 ล้านบาท ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อ จ.ชัยภูมิ มาช่วยสร้างให้ ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งก็ไม่ได้ใช้เงินหลวงแต่อย่างใด
“นี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่เจ๊งแต่ก็ไม่ได้รวย และเราก็ต้องขยายงาน มีการจ้างคนเพิ่ม มีค่าจ้าง ซึ่งรายได้ในส่วนนั้นเราหาไม่ได้ ได้แต่พวกครุภัณฑ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด แต่เรามองว่าเท่านี้มันไม่พอ” นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับ นพ.อภิสิทธิ์ และน้องๆ อีกหลายคน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลชุมชนขาดทุน โดยโรงพยาบาลอุบลรัตน์เริ่มทดลองทำไปแล้วคือสร้างตึกห้องพิเศษ 2 ชั้น 24 ห้อง ส่วนโรงพยาบาลน้ำพองมีขนาดใหญ่จึงสร้าง 6 ชั้น 80 ห้อง โดยมีแนวคิดเห็นเป็นโรงพยาบาลประชารัฐ
“สมมุติอย่างตึก 2 ชั้น ถ้าหลวงสร้างให้ก็มี 24 ห้องพิเศษ ในส่วนของเอกชนก็อาจจะบริจาคเป็นเครื่องมือ หรือช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.ผู้พิการ มาตรา 35 คือหากโรงงานใดไม่ประสงค์จะจ้างผู้พิการทำงานตามกฎหมายก็สามารถออกเงินจ้างคนให้โรงพยาบาลแทนได้ อย่างที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ก็มีประมาณ 10 คน ที่โรงงานจ้างให้ ของผมก็ได้มา 19 คน ซึ่งผู้พิการเหล่านี้ช่วยได้ทั้งงานบริการ งานธุรการ แล้วแต่ความสามารถของเขา” นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับโรงพยาบาลประชารัฐมีองค์ประกอบง่ายๆ คือ PPP ได้แก่
1.Public คือรัฐ ซึ่งอาจจะช่วยในรูปแบบการก่อสร้างตึกหรือสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ก็ได้
2.Private คือเอกชน อาจจะออกเป็นอาคาร เครื่องมือแพทย์ หรือการจ้างงานผู้พิการ รวมทั้งการจ้างผู้สูงอายุในอนาคต
3.People คือประชาชน ก็ได้คำนวณว่าประชากร 1 หมื่นคน ต้องใช้ห้องพิเศษ 20 ห้อง เฉลี่ยแล้วถ้าช่วยกันบริจาควันละ 3 บาท หรือปีละ 1,000 บาท หากประชากร 1 หมื่นคน ก็จะได้เงิน 10 ล้านบาท หากประชาชนป่วยเต็ม 20 ห้อง ทั้งปีใช้เงินแค่ 7 ล้านบาท โรงพยาบาลก็ยังเหลือเงินอีก 3 ล้านบาท ไปจัดบริการอื่นๆ ได้
ทั้งนี้ คาดว่าจะทำโครงการนำเสนอปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายในเดือน ก.ย.นี้ โดยจะนำร่องในโรงพยาบาลที่มีตึกก่อน โดยให้แต่ละโรงพยาบาลไปชวนชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ชวนเอกชนเข้ามายกระดับคุณภาพโรงพยาบาล
- 115 views