เมื่อกล่าวถึงตำรับตำราการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นวิทยาการแขนงหนึ่งที่ใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพของผู้คนในสังคมไทย มีรากฐานมาจากบรรพชนที่ได้ศึกษาเรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัว รวมทั้งรับอิทธิพลจากชาติที่มีวัฒนธรรมสูงกว่า เช่น อินเดีย แล้วนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมจนเกิดเป็นภูมิปัญญาของสังคม แล้วนำมาถ่ายทอดสู่อนุชนด้วยวิธีมุขปาฐะในเบื้องต้นจนกลายเป็นทักษะ
ต่อมาเมื่อสังคมมีความเจริญก้าวหน้า มีตัวอักษรใช้สำหรับสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ได้ และสามารถผลิตวัสดุรองรับการจดบันทึกได้ดียิ่งขึ้น ก็นำภูมิความรู้เหล่านั้นมาจดบันทึกไว้จนกลายเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ เมื่อวันเวลาล่วงเลยผ่านไปเป็นร้อยเป็นพันปี วิทยาการของบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าขึ้น รวมทั้งสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สังคมมีการผลิตวัสดุรองรับการจดบันทึกเรื่องราวอย่างใหม่ขึ้นใช้แทนวัสดุแบบเดิม วัสดุที่ใช้จดบันทึกเรื่องราวในอดีตจึงได้รับการขนานนามในปัจจุบันว่า “เอกสารโบราณ”
กล่าวกันว่าเอกสารโบราณที่ใช้บันทึกตำราการแพทย์ของสังคมในพื้นที่ประเทศไทย ปรากฏหลักฐานมาก่อนสมัยสุโขทัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 สามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มตามลักษณะวัสดุได้ 3 ประเภท คือ จารึก หนังสือสมุดไทย และคัมภีร์ใบลาน กล่าวคือ
จารึก หรือเอกสารที่มีรูปรอยอักษรซึ่งสำเร็จด้วยกรรมวิธีจารึก ปรากฏเป็นร่องลึกลงไปในเนื้อวัตถุต่างๆ ที่เป็นธรรมชาติ มีความคงทน ถาวรและแข็งแรง สามารถมีอายุอยู่ได้ยืนนาน เช่น จารึกบนผนังถ้ำ ศิลาจารึก จารึกแผ่นไม้ จารึกฐานพระพุทธรูปจารึกกรอบประตูปราสาทหินต่างๆ ตลอดจนนำวัสดุมีค่ามาตีแผ่ให้เป็นแผ่น มีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนใบลาน แล้วเรียกชื่อตามวัสดุว่า จารึกลานทอง จารึกลานเงินหรือจารึกลานทองแดง เป็นต้น
บริเวณพื้นที่ประเทศไทยพบจารึกที่บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับตำรับตำรายาตามปราสาทหินที่ทำหน้าที่เป็นอาโรคยศาลาหรือสถานพยาบาลของสังคมตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นความเจริญของอาณาจักรขอมที่แผ่อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมมาครอบคลุมดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย
ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้มีการสร้างอาโรคยศาลาหรือสถานพยาบาล กระจายทั่วพระราชอาณาจักร จำนวน 102 แห่ง เพื่อพระราชทานเป็นการกุศลแก่ประชาชนทั่วไป พร้อมกับการสร้างอาโรคยศาลาแต่ละแห่ง ได้มีการสร้างจารึกควบคู่ไว้ด้วย
ปัจจุบันพบจารึกอาโรคยศาลาในบริเวณประเทศไทยแล้วประมาณ 10 หลัก เรียกชื่อตามแหล่งที่พบว่า จารึกปราสาท จารึกด่านประคำ จารึกพิมาย และจารึกกู่โพนระฆัง เป็นต้น
จารึกเหล่านี้มักทำเป็นทรงกระโจมหรือทรงยอ มีจารึกข้อความ 4 ด้าน มีเนื้อหาว่าด้วยการประกาศเกียรติคุณในพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ทรงสร้างอาโรคยศาลาและพระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต พร้อมด้วยรูปพระชิโนรสทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณด้านการรักษาผู้เจ็บป่วย พร้อมทั้งบอกการบริหารจัดการอาโรคยศาลาแต่ละแห่งอย่างมีระบบตามสภาพของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง ซึ่งมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงมีจำนวนแพทย์และเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลแต่ละแห่งไม่เท่ากัน รวมทั้งการพระราชทานวัตถุสิ่งของ เสบียงอาหาร ตลอดจนเครื่องยาสมุนไพรก็ไม่เท่ากัน
นอกจากจารึกอาโรคยศาลาแล้ว ไม่พบหลักฐานการจารึกตำรายาหรือตำราการแพทย์ในศิลาจารึกอีก จนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ปรากฏการจารึกตำรายาเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนที่วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ฯ ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุเชื่อว่าแต่เดิมมีมากกว่า 100 แผ่น ปัจจุบันเหลือติดประดับผนังระเบียงพระวิหารอยู่เพียง 50 แผ่นเท่านั้น
ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ฯ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์จนแล้วเสร็จ โดยข้าราชบริพารได้พร้อมใจกันดูแลรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ
หนังสือสมุดไทยคือ เอกสารโบราณที่บันทึกข้อมูลความรู้บนกระดาษแบบไทยที่ทำมาจากเยื่อเปลือกไม้ เช่น เปลือกต้นข่อยหรือปอสา มาผ่านกรรมวิธีต้มและหมักหลายขั้นตอนจนสามารถหล่อเป็นแผ่นกระดาษยาวติดต่อกันแล้วนำมาพับกลับไปกลับมาให้เป็นเล่มสี่เหลี่ยมผืนผ้าหนาหรือบางก็ได้ตามความประสงค์ของผู้ใช้ โดยไม่ต้องใช้วิธีการเย็บเหมือนปัจจุบัน
หนังสือสมุดไทยส่วนใหญ่มีขนาดกว้าง 10-15 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตรสมุดไทยมี 2 สี คือ สีดำกับสีขาว สมุดไทยสีขาว เป็นสีธรรมชาติของเปลือกไม้ ส่วนสมุดไทยสีดำ เกิดจากการลบสมุดด้วยเขม่าผสมแป้งเปียกตากจนแห้งสนิท ทั้งสมุดไทยขาวและสมุดไทยดำสามารถนำมาเป็นวัสดุรองรับการเขียน หรือชุบลายลักษณ์อักษรได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเล่มสมุด
ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกสมุดไทยว่า “สมุดข่อย” เพราะทำมาจากเปลือกของต้นข่อย ส่วนภาคใต้มักเรียกสมุดไทยเป็นคำสั้นๆ ตามสีของสมุดว่า “บุดดำ บุดขาว” ส่วนภาคเหนือมักเรียกว่า “พับสา” เนื่องจากวัสดุที่นำมาใช้ทำสมุดมาจากพันธุ์ไม้ที่มีมากในท้องถิ่นนั้น คือ ต้นปอสาซึ่งสามารถนำมาหล่อเป็นกระดาษแล้วนำมาพับกลับไปมาให้เป็นเล่มสมุดได้เช่นกัน
สำหรับตำรับตำรายาการแพทย์แผนไทยที่บันทึกไว้ในหนังสือสมุดไทยของหอสมุดแห่งชาติส่วนใหญ่เป็นตำรายาเกร็ดและตำรายาต่างๆ ทั้งที่เป็นตำรายาเฉพาะโรค เช่น ตำรายาแก้ไข้ ตำรายาแก้ลงท้อง ตำรายาแก้โรคมะเร็ง ตำรายาแก้ฝีในท้อง ตำรายาแก้สารพัดโรคหาย ตำรายาตามีต่างๆ ตำรายาแก้ซาง ตำรายาธาตุทั้ง4ตำรายาแก้ฝี เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีตำรายาที่เป็นสูตรเฉพาะของบุคคลต่างๆ โดยไม่ได้บอกสรรพคุณของยา เช่น ตำรายาขลัวตา วัดเชิงเลน ตำรายาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ตำรายาเกร็ดของสมเด็จเจ้าเขาบันไดอิฐ เพชรบุรีเป็นต้น รวมทั้งอาจเป็นตำรับตำรายาที่ไม่ใช่ของไทย เช่น ตำรายาจีน ตำรายาฝรั่งต่างๆ
อย่างไรก็ตามตำรับตำรายาการแพทย์แผนไทยที่บันทึกลงบนหนังสือสมุดไทยมีทั้งที่เป็นตำรายาฉบับหลวง ซึ่งมีการตรวจชำระเนื้อความจนถูกต้องดีแล้ว และตำรับตำรายาที่คัดลอกสืบต่อกันมา ดังปรากฏบนหน้าปกหนังสือสมุดไทยว่า ตำรายาในวัดโพธิ์ รวมทั้งตำรับตำรายาฉบับเชลยศักดิ์ต่างๆ แบ่งเป็น ตำรายาบำรุงธาตุ หรือวัดโพธิ์ รวมทั้งตำรับตำรายาฉบับเชลยศักดิ์ต่างๆ แบ่งเป็น ตำรายาบำรุงธาตุ หรือยาอายุวัฒนะ ซึ่งอาจมีการตั้งชื่อตำรับตำรายานั้นให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยอักขระวิธีโบราณ เช่น พระตำราจักพระณะร้ายชุมนุมแบ่งภาค ตำราพระโอสถ 12 ราศี ตำราราชสาธก คัมภีร์จักรทีปนี แพทย์ศาสตร์สอนด้วยขันธโลก เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีตำรับตำราการแพทย์ที่ประพันธ์เนื้อหาด้วยสำนวนร้อยกรอง เช่น สมุดตำรายากลอนร่ายลิลิต กลอนลำนำ 16 สำนวนจันทบูรกล่อน เล่ม 1 ตำราซางคำกลอน คัมภีร์ทงติสัมพาธคำกลอน คัมภีร์ปฐมธาตุคำกลอน เป็นต้น รวมทั้งอาจมีเนื้อหาที่ให้ความรู้เฉพาะทาง เช่น ลักษณะพฤกษชาติและว่านยาอันมีคุณ ตำราหุงน้ำมันว่านยา ตำราสรรพคุณพรรณยา และตำราดูลายมือเด็กที่จะเกิดโรค เป็นต้น
และหากจะกล่าวถึงตำรับตำรายาที่เป็นหนังสือสมุดไทยดำที่สำคัญอย่างตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงรัชกาลที่ 5 ที่จัดเก็บรักษาและให้บริการอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ นับว่าเป็นแหล่งรวบรวมตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย
คัมภีร์ใบลานคือ หนังสือที่ใช้ใบของต้นลานที่ผ่านกรรมวิธีการเตรียมใบลานหลายขั้นตอนเพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุรองรับการบันทึกข้อความด้วยการใช้เหล็กแหลมที่เรียกว่าเหล็กจารจารเส้นตัวอักษรได้ทั้ง 2 ด้าน ด้านละ 4-5 บรรทัด แล้วใช้เขม่าไฟผสมน้ำมันยางลบหน้าลาน เพื่อให้เห็นเส้นตัวอักษรชัดเจนเด่นชัด เมื่อจะนำใบลานแต่ละใบมารวมกันให้เป็นหนังสือ ต้องร้อยด้วยเชือกที่เรียกว่า สายสนอง หรือ สายสยองเข้าในรูทางด้านซ้ายที่เจาะไว้ตั้งแต่ขั้นการเตรียมใบลาน เรียกว่า ร้อยหู เพื่อรวมเป็นผูก คัมภีร์ใบลานจึงมีลักษณะนามว่า ผูก ตามลักษณะการร้อยสายสนองเข้าด้วยกันนี่เอง คัมภีร์ใบลาน 1 คัมภีร์ อาจมีจำนวนใบลานได้ตั้งแต่ 1 ผูก จนถึง 20-30 ผูกก็ได้ตามความสั้นยาวของเนื้อหา คัมภีร์จึงอาจหมายถึง 1 เรื่องก็ได้
โดยปกติคัมภีร์ใบลานทางพุทธศาสนา 1 ผูก จะมีจำนวนใบลาน 24 ใบ เท่านั้น ยกเว้นผูกสุดท้ายอาจมีมากกว่า 24 ลานได้ แต่จะต้องเรียกว่า 1 ผูก กับบอกจำนวนลานที่เหลือ
คัมภีร์ใบลานที่บันทึกตำรายาของหอสมุดแห่งชาติฉบับที่ได้รับความสนใจมากคือ คำภีธาตุพระณะราย หรือที่รู้จักกันทั่วไปในฉบับพิมพ์ว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ทรงอธิบายไว้ในคำนำหนังสือที่พิมพ์แจกในงานปลงศพ นายปั่น ฉายสุวรรณ เมื่อ พ.ศ. 2466 ว่า
“มีตำราพระโอสถซึ่งหมอหลวงได้ประกอบถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลายขนาน ปรากฏชื่อหมอแลวันคืนที่ได้ตั้งพระโอสถนั้นๆ จดไว้ชัดเจน อยู่ในระหว่างปีกุน จุลศักราช 1021 (พ.ศ. 2202)จนถึงปีฉลู จุลศักราช 1023 (พ.ศ. 2204) คือระหว่างปีที่ 3 จนถึงปีที่ 3 รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”
สรุปความว่าเมื่อสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร คัดเลือกเรื่องที่เห็นว่าดีแล้วก็ทรงตั้งชื่อหนังสือให้สื่อสาระในเรื่องเพื่อความน่าสนใจด้วย นอกจากนั้นยังมีคัมภีร์ใบลานที่บันทึกตำราเกี่ยวกับโรคและยารักษาโรคต่างๆ เช่น ตำราต้อ ตำราซาง คัมภีร์กระษัย ไข้สันนิบาต ตำราป่วงตำราฝีและตำรายาแก้โรคต่างๆ ทั้งที่ใช้อักษรไทย ภาษาไทย และอักษรไทยถิ่น ภาษาไทยถิ่น เช่น อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน อักษรไทยน้อย และอักษรไทยขึนเป็นต้น รวมทั้งยังมีอักษรและภาษาของชนกลุ่มต่างๆ เช่น อักษรมอญ ภาษามอญอักษรพม่า ภาษาพม่า เป็นต้น
กล่าวได้ว่า ตำรับตำรายาที่เป็นแผนไทย ภาษาไทย รวมทั้งภาษาถิ่น ปรากฏหลักฐานชัดเจนในสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบมาจนปัจจุบัน ซึ่งตำรับตำราการแพทย์แผนไทยหลายฉบับอาจมีเนื้อหาใกล้เคียงกันหรือซ้ำกันก็ได้ เนื่องจากมีการคัดลอกตำรายาดีของหมอที่ตนเองนับถือไว้หรือคัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลความรู้เปิด เช่น วัดราชโอรสารามฯ หรือวัดพระเชตุพนฯ ก็ได้ นอกจากนั้นอาจเป็นตำรับตำรายาที่เกิดจากภูมิรู้ของหมอสมุนไพรแผนโบราณที่ได้สั่งสมประสบการณ์จนคิดสูตรยาขนานต่างๆขึ้นใช้รักษาโรคแล้วเห็นผลดีจึงจดบันทึกไว้กันลืมก็เป็นได้ ขณะเดียวกันวิชาการแพทย์แผนโบราณเป็นวิชาชีพที่มักสืบทอดกันมาในสายตระกูลจนกลายเป็นทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว
ดังนั้นตำรับตำรายาที่จดบันทึกไว้จึงมีเคล็ดวิชาที่เป็นขั้นตอนสำคัญในการปรุงยาสมุนไพรที่มีคุณภาพให้สามารถใช้ได้ผลจริงเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ของสังคมไทยในอดีตที่ต้องเรียนรู้สืบทอดด้วยการฝึกฝนอย่างจริงจังจึงจะสัมฤทธิผล อย่างไรก็ตาม ตำรับตำราการแพทย์แผนไทยที่ถ่ายทอดแพร่หลายสู่สังคมไทยนั้น เป็นภูมิความรู้ที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน และยังใช้ได้ผลดี หากมีภูมิความรู้ที่ถูกต้อง มีความเข้าใจในอาการของโรค วิธีการรักษา ตำรายาที่จะต้องใช้และสรรพคุณของยาสมุนไพรแต่ละชนิดอย่างพร้อมมูล ตลอดจนมีความรู้และเข้าใจในรากฐานวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริงก็จะสามารถเข้าถึงตำรับตำราการแพทย์แผนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมเป็นผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป
ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงรัชกาลที่ 5
เก็บความจาก
สำนักวิชาการ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.รายงานการสาธารณสุขไทย ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 .2553
- 6851 views