ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนออกแถลงการณ์ วอล์กเอ้าท์ไม่ร่วมประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.สสส. อัดหลักการและเหตุผลขาดข้อเท็จจริง มีอคติ ทำให้สัดส่วนของภาคราชการมากกว่าประชาสังคม
3 เม.ย.2560 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ในการประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่…) พ.ศ… ครั้งที่ 2 โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 300 คน เข้าร่วมรับฟังและนำเสนอข้อคิดเห็น นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) ซึ่งเป็นองค์กรภาคี 30 เครือข่าย ที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ และดำเนินงานการสร้างเสริมสุขภาพมาตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปี เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ความเห็นต่อการจัดเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ ดังต่อไปนี้
1. กระบวนการและขั้นตอนการจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ.สสส. ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ..... ที่ผ่านประชามติไปแล้ว โดยรัฐไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่ารอบด้านและเป็นระบบ อีกทั้งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548
2. หลักการและเหตุผลในการขอแก้ไข พ.ร.บ.สสส. ไม่มีการศึกษาทางวิชาการอย่างเป็นระบบถึงวัตถุประสงค์ในการแก้ไขว่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร นอกจากนี้ เหตุผลที่ขอแก้ไขยังขัดแย้งกับความเป็นจริง เช่น การอ้างว่า สสส.มีการจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ที่คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้การรับรองและมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติแก่ สสส.ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในระดับสูงมาก ซึ่งลงนามโดยนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ การแก้ไขจะทำให้กระบวนการสร้างเสริมสุขภาพด้อยประสิทธิภาพลง ด้วยการลดงบประมาณและดึงงบประมาณ สสส.เข้าสู่ระบบราชการ ที่สวนทางกับแนวทางขององค์การอนามัยโลกซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพ และยกย่องให้ สสส.เป็นองค์กรนวัตกรรม และเป็นตัวอย่างของนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
ขสช. ขอคัดค้านและขอให้ยุติวิธีการอันไม่ถูกต้อง ขสช.มีความเห็นว่า กระบวนการการแก้ไขกฎหมายที่ดีจะต้องเริ่มต้นด้วยการให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทำหน้าที่ศึกษาและรวบรวมข้อมูลหลักฐาน รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ จากนั้นจึงนำไปสู่กระบวนการแก้ไขกฎหมาย และรับฟังความคิดเห็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
“กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดเวทีมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่สองครั้งที่กรุงเทพฯ งานของ สสส.ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ อย่างน้อยต้องจัดเวทีกระจายทั้ง 4 ภาค” นายคำรณกล่าวและว่า หลังสงกรานต์นี้จะยื่นคำถามและข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี เนื่องจากในการประชุมมีการระบุว่า นายกฯ เป็นคนสั่งการ
นายคำรณ กล่าวว่า นอกจากหลักการและเหตุผลแล้ว เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.สสส.ยังมีปัญหา อาทิ การตัดรองประธานกรรมการคนที่สอง ซึ่งมาจากภาคประชาสังคมออก และเพิ่มคณะกรรมการที่มาจากวิชาชีพแพทย์และพยาบาล ทำให้สัดส่วนของภาคราชการมากกว่าประชาสังคม ทั้งยังมีการปรับรูปแบบการเสนองบโครงการ ให้คล้ายกับรูปแบบของกระทรวง คือให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังพิจารณาและทำแผนตามกรอบเวลา ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง สสส. นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนงบประมาณจาก 2% ของภาษีเหล้าและบุหรี่ เป็นไม่เกินกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.16% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพของประชาชน
“เงินตรงนี้เป็นเงินที่เก็บเพิ่มจากธุรกิจเหล้าและบุหรี่ ไม่ได้เบียดเบียนภาษีประชาชน ถึงไม่เก็บเพิ่มเงินก็ไม่ได้เข้าคลัง หากเป็นแบบนี้ธุรกิจก็ไม่ได้จ่าย” นายคำรณ กล่าว
ก่อนหน้านั้น ในเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ช่วงเช้า ผู้เข้าร่วมจากภาคประชาสังคมจำนวนมากตั้งคำถามกับกระบวนการร่าง พ.ร.บ. รวมถึงหลักการและเหตุผลในการแก้ไข พ.ร.บ. พร้อมเรียกร้องให้ยุติเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์เพื่อทบทวนใหม่ โดยมี นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก วอล์กเอาท์จากการสัมมนาเป็นคนแรก อย่างไรก็ตาม ผู้ดำเนินการสัมมนาจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า การสัมมนาต้องดำเนินต่อไป หากไม่อ่านเนื้อหาในร่างก็จะเป็นการเสียสิทธิในเสนอเพื่อพิจารณาขั้นต่อไป ภาคประชาสังคมจึงมีข้อสรุปไม่เข้าร่วมการประชุมต่อในช่วงบ่าย ทำให้ในช่วงบ่ายมีผู้เข้าร่วมลดกว่าครึ่ง เหลือราว 100 คน
- 2 views