กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งหนังสือแจ้งเวียนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และ รพ.เอกชนทั่วประเทศ แจงข้อปฏิบัติรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ 72 ชั่วโมงแรกตามกฎหมายสถานพยาบาล และมติ ครม. 28 มีนาคม 2560 ต้องปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน รพ.ทุกแห่งต้องรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) อย่างเต็มความสามารถ และห้ามเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมงแรกเด็ดขาด หากฝ่าฝืนในส่วนของ รพ.เอกชนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า
ตามนโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) กำหนดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรกนั้น ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ขณะนี้กฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย
1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย การกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน
2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินและการระดมทรัพยากรและการมีส่วนร่วมการช่วยเหลือเยียวยาและจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น
และ 3.หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป
นพ.วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า เพื่อผลในทางปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันทั่วประเทศ กรม สบส.ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป หน่วยงานภาครัฐ /รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศซึ่งขณะนี้ขึ้นทะเบียนกับกรม สบส.จำนวน 347 แห่ง เพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนทุกคนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ จะได้รับการดูแลช่วยชีวิตอย่างทันท่วงที และเท่าเทียมกัน มีมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีทั้งการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติจากอุบัติเหตุและจากโรคประจำตัวกำเริบ มีโอกาสรอดชีวิตและได้รับการดูแลจนปลอดภัยใน 72 ชั่วโมงแรก
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวว่า สาระสำคัญของประกาศทั้ง 3 ฉบับ กำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินฯ อย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้พ้นขีดอันตราย ภายใน 72 ชั่วโมงแรก หากมีความจำเป็นหรือหากผู้ป่วย/ญาติมีความประสงค์จะไปรับการรักษาจากสถานพยาบาลอื่น สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นได้และต้องจัดให้มีการส่งต่อตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของโรงพยาบาลนั้นๆ ห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยเด็ดขาด
โดยให้โรงพยาบาล ส่งหลักฐานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งมีทั้งหมด 12 หมวด 2,970 รายการไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะตรวจสอบความถูกต้อง สรุปค่าใช้จ่าย และแจ้งไปยังกองทุนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามสิทธิของผู้ป่วยภายใน 30 วัน เพื่อดำเนินการจ่ายค่ารักษา ให้แก่โรงพยาบาลเอกชนที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยภายใน 15 วัน
กรณีที่มีปัญหาการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติให้ปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยเมื่อพ้น 72 ชั่วโมงไปแล้วให้โรงพยาบาลส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิ์ของผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่ระบบปกติของการรักษาพยาบาลจากกองทุนสุขภาพต่างๆ แต่หากผู้ป่วยประสงค์ที่จะรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลแห่งเดิม ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง
สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย จะมีความผิดตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- 353 views