แม้รัฐบาลไทยจะมีนโยบายปรับสถานะแรงงานข้ามชาติ ทำให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบได้กว่า 500,000 คน แต่พบว่ากว่าครึ่งเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพ ทั้งระบบประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพ ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูล ที่สำคัญคือนายจ้างไม่ให้ความสำคัญ ส่งผลให้แรงงานจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาด้านคุณภาพชีวิตทั้งที่เป็นสิทธิที่ควรได้รับ

เป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้วที่ นางนกเขา ต้องคอยดูแล นายทูนลุย ผู้เป็นสามี หลังป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก กลายเป็นอัมพาตครึ่งซีกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ นายทูนลุย เป็นแรงงานชาวพม่า ที่โรงงานคัดแยกปลา ใน จ.สมุทรสาคร แต่หลังจากล้มป่วย ก็ต้องออกจากงานไปโดยปริยาย

20 ปีกว่าที่เข้ามาทำงานในไทย ผ่านงานมาแทบทุกรูปแบบ แต่นายทูนลุย และภรรยา ก็ไม่เคยเข้าถึงสิทธิสวัสดิการใดๆ โดยเฉพาะประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพ ทั้งๆ ที่ทั้งคู่เป็นแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย มีหลักฐานแสดงชัดเจน แต่ปัญหาอยู่ที่ความไม่รู้ข้อมูล และนายจ้างไม่ดำเนินการให้ตามสิทธิที่ควรจะได้รับ การเข้ารับผ่าตัดสมองถึง 2 ครั้งของนายทูลลุย ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 300,000 บาท แต่สามารถจ่ายคืนให้โรงพยาบาลได้เพียง 10,000 บาทเท่านั้น

ภายหลังสิ้นสุดการรักษา โรงพยาบาลได้ประสานมายังมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เพื่อให้ดำเนินการส่งตัวกลับประเทศ ซึ่งนางนกเขา ก็ต้องลาออกจากงานเพื่อไปดูแลสามีต่อที่พม่า แต่บอกว่าถึงอย่างไรก็จะกลับมาหางานทำในไทยอีกครั้ง

กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงบางส่วนของปัญหาการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ การรักษาพยาบาลของแรงงานข้ามชาติ แม้รัฐบาลไทยจะมีนโยบายปรับสถานะแรงงานข้ามชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี 15 มกราคม 2556 ทำให้มีแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบถึง 493,324 คน แต่มีเพียงร้อยละ 51 หรือประมาณ 253,519 คน ที่เข้าสู่หลักประกันสุขภาพ

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงสิทธิ โดยเฉพาะปัญหาด้านการสื่อสาร การทำความเข้าใจ ขณะที่นายจ้างบางส่วนยังไม่ให้ความสำคัญในการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม และไม่แจ้งชื่อแรงงานเพื่อขอใช้สิทธิ

ส่วนระบบประกันสุขภาพ ก็พบว่าสถานพยาบาลจำนวนมากยังเห็นแต่ผลกำไร ทำให้ประกันมีราคาสูง ซึ่งแรงงานก็เลือกที่จะไม่ซื้อประกันสุขภาพ นอกจากนี้ ระดับนโยบายก็ยังพบการทำงานที่ไม่เชื่อมโยงกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอสำคัญ เพื่อการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากลปีนี้ องค์กรแรงงานเอกชนอยากเห็นภาครัฐตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ดูแลระบบประกันสุขภาพเฉพาะแรงงานข้ามชาติ เพื่อจัดการระบบให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทำงานเชิงรุก รณรงค์ให้ความรู้แก่แรงงานในการเข้าถึงสิทธิ นอกจากนี้ ต้องเพิ่มมาตรการทางกฎหมายให้นายจ้างตระหนักถึงสิทธิแรงงานให้มากขึ้น