ยาโอสถสภา หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า ยาตำราหลวง นั้น วิวัฒน์มาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงของการแพทย์สมัยใหม่เฟื่องฟูในสยาม โอสถสภาหรือโอสถศาลา เป็นสถานที่จำหน่ายยาของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2444 แรกเริ่มเดิมทีเป็นเพียงสถานที่จำหน่ายยาจากส่วนกลางออกไปยังหัวเมืองต่างๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 จึงเริ่มมีการปรุงยาขึ้น โดยกรมหลวงดำรงราชานุภาพและคณะแพทย์ชาวต่างประเทศ
ด้วยความคิดที่จะให้ยาดีสำหรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บแพร่หลายไปถึงราษฎรตามชนบทโดยสะดวกทั่วกัน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นเป็นเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย เห็นว่าการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ราษฎรตามหัวเมือง (ในสมัยนั้นเรียกว่า "การสาธารณพยาบาล") เป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย แม้การทำยารักษาในระยะนั้นจะเป็นหน้าที่ของกรมพยาบาลในสังกัดกระทรวงธรรมการ แต่เนื่องจากไม่มีกำลังพอที่จะดูแลอุดหนุนการอนามัยในหัวเมืองให้บังเกิดผลดีทั่วถึงกันได้ ที่ประชุมเทศาภิบาลจึงมอบภาระในเรื่องยารักษาโรคที่จะส่งไปช่วยเหลือราษฎรชนบทให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ
เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้รับธุระจัดการในเรื่องยารักษาโรคแล้ว ได้พิจารณาเห็นว่ายาฝรั่งมีสรรพคุณชะงัดกว่ายาไทย ทั้งยังสามารถบรรจุส่งไปตามที่ต่าง ๆ ได้สะดวกด้วย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงเชิญแพทย์ฝรั่งทุกชาติ (ส่วนมากเป็นแพทย์มิชชันนารี) ประชุมพร้อมกันที่กระทรวงมหาดไทยชี้แจงแก่แพทย์ฝรั่งว่า รัฐบาลอยากจะได้ตำรับยาฝรั่งบางขนานสำหรับรักษาโรคที่ราษฎรชนบทมักเป็นกันชุกชุม เมื่อปรึกษาหารือกันเองแล้วบรรดาแพทย์ฝรั่งตกลงแนะนำให้รัฐบาลทำยาต่าง ๆ 8 ขนาน และกำหนดเครื่องยากับทั้งส่วนผสมยานั้น ๆ ทุกขนาน มอบตำรับยาให้เป็นสมบัติของรัฐบาลส่วนราชการที่จะทำยานั้น หมออะดัมสัน (พระบำบัดสรรพโรค) เอื้อเฟื้อรับทำให้ขั้นแรก ณ ร้านขายยาของเขาที่สี่กั๊กพระยาศรี โดยขอคิดราคาเพียงเท่าทุน และช่วยฝึกหัดคนที่จะผสมยาให้ด้วยจนกว่ากระทรวงธรรมการจะตั้งสถานที่ทำยาแล้วเสร็จและเปิดทำการได้เอง
ยาโอสถสภา 8 ขนาน ที่ทำขึ้น ได้แก่ ยาแก้ไข้ (ควินิน) ยาถ่าย ยาแก้ลงห้อง ยาแก้โรคไส้เลือน ยาแก้โรคบิด ยาบำรุงโลหิต ยาแก้คุดทะราดและเข้าข้อ และยาแก้จุกเสียด (โซดามินท์)
และเนื่องจากยาโอสถสภาที่ทำขึ้นนี้ยังเป็นของใหม่ ราษฎรชนบทมักไม่นิยมใช้กัน ในเวลาต่อมากระทรวงมหาดไทยจึงจัดให้ประชุมแพทย์ไทยจัดหาตำรายาไทย เช่น ยาเขียว ยาหอม และยาแก้ไข้ แก้ท้องเสีย ลองให้แพทย์ไทยจำหน่ายจากโอสถศาลาก็ปรากฏว่าจำหน่ายได้ยาก อีกทั้งเมื่อกระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโอสถศาลารัฐบาลขึ้นที่สะพานนพวงศ์ ตรงข้ามโรงเรียนเทพศิรินทร์ และดำเนินการผลิตยาโอสถสภาได้เองแล้วจึงผลิตยาโอสถสภาแผนโบราณออกจำหน่ายด้วย ยาแผนโบราณของโอสถศาลามีหลายขนาน เช่น ยาธาตุบรรจบ ยาจันทรลีลา ยาสุขไสยาสน์ ยากำลังราชสีห์ ยาหอมอินทรจักร เป็นต้น
ยาโอสถสภาแผนปัจจุบัน 8 ขนานนั้น ทำเป็นเม็ดบรรจุกลักเล็ก ๆ ประมาณกลักละ 20 เม็ด ข้างในมีกระดาษใบปลิวบอกวิธีที่จะใช้ยานั้นแล้วรวมกลักยาห่อเป็นชุด ๆ มีใบปลิวโฆษณาสรรพคุณของยาโอสถสภาสอดไปด้วย ข้อความชี้แจงวิธีใช้นั้นได้พิมพ์ไว้ทั้งภาษาไทย จีน ลาว มลายู และอังกฤษ อีกทั้งยังใช้กระดาษสีต่าง ๆ ทำเป็นใบชี้แจงวิธีใช้ยาเพื่อเป็นที่สังเกตง่าย ใครเคยใช้มาแล้วเห็นแต่กระดาษห่อรู้ได้ทีเดียวว่าเป็นยาแก้โรคอะไร
และเพื่อที่จะให้ยาแพร่หลายไปในหมู่ราษฎรชนบทที่ยากจนจึงได้จำหน่ายในราคาถูกคือขายปลีกเสมอกลักละเฟื้อง ผู้ใดรับเหมาไปจำหน่ายมาก ๆ ยอดขายให้ราคาเพียง 12 กลักบาท คือให้มีส่วนลดถึง 50% ถึงกระนั้นในตอนแรกก็ยังไม่เป็นที่นิยมแก่ราษฎรตามหัวเมือง ด้วยขาดผู้ชี้แจงสรรพคุณของยาให้คนนิยมและทดลองใช้ และพากันมองว่ายาโอสถสภาเป็นยาสูงถ้าใช้ยานี้แล้วโรคไม่หายจะใช้ยาอื่นไม่ได้ แม้แพทย์ประจำตำบลซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ชี้แจงกับราษฎรก็ยังมีบางคนเข้าใจผิดอยู่เช่นนั้น ที่รับยาไปจำหน่ายมักจะรับไปเพราะความเกรงใจ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทราบถึงปัญหานี้จึงได้พยายามหาทางแก้ไขด้วยอุบายต่าง ๆ เช่น เปิดวงเงินเชื่อ 1,000 บาท ให้แพทย์หลวงรับไปจำหน่าย ยาที่เสียยอมให้ส่งคืนได้ หรือให้แพทย์ที่ออกทำการปลูกฝีนำยาโอสถสภาออกไปเผยแพร่ด้วย ฯลฯ ในที่สุดราษฎรชนบทที่ลองใช้ยาโอสถสภาก็เห็นคุณของยามากขึ้นโดยลำดับ ยาโอสถสภาจึงแพร่หลายไปในชนบทดังจะเห็นได้จากสถิติการจำหน่ายตั้งแต่ พ.ศ.2449 จำหน่ายได้ 19,743 ตลับ กระทั่งในปี พ.ศ.2451 จำหน่ายได้ถึง 112,596 ตลับ
ยาโอสถสภาหรือยาตำราหลวงแผนปัจจุบันทำขึ้นเพียง 8 ขนาน ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2464 รองอำมาตย์โทขุนยำราศนราดูรแพทย์ประจำจังหวัดลพบุรีในขณะนั้น ได้เสนอความเห็นไปยัง พระพิศณุโลกบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ความว่า "….ยาโอสถศาลา (ภายหลังเรียกว่า ยาตำราหลวง) ที่รัฐบาลทำจำหน่ายเพื่อเป็นการสงเคราะห์ราษฎรในเวลานี้มีเพียง 8 ขนานเท่านั้น โรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ซึ่งราษฎรตามบ้านนอกเป็นกันชุกชุมแลควรจะบำบัดเสียในขั้นต้นยังมีอีกมาก แลราษฎรตามบ้านนอกนั้นย่อมหายาดี ๆ ใช้ยาก แลแพทย์ที่จะช่วยบำบัดก็ไม่มี เห็นว่าควรมียาโอสถสภาชนิดอื่นเพิ่มขึ้นอีกบ้างตามโรคซึ่งราษฎรเป็นกันชุกชุม เพื่อเป็นการสงเคราะห์ราษฎรช่วยป้องกันหรือบำบัดเสียในขั้นแรก…" และได้เสนอรายชื่อยาที่ควรเพิ่มไปยังกรมสาธารณสุขด้วย
กรมสาธารณสุขเห็นชอบด้วยกับความคิดนั้นจึงได้ให้โอสถศาลารัฐบาลทำการผลิตยาตำราหลวงเพิ่มขึ้นเป็น 25 ขนาน ครั้นต่อมาเมื่อโรงงานเภสัชกรรมกระทรวงสาธารณสุขรับหน้าที่ผลิตยาตำราหลวงสืบต่อจากกองโอสถศาลารัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ.2487 ก็ได้เพิ่มยาตำราหลวงขึ้นอีก 4 ขนาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2503-2504 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งเพิ่มและลดยาบางขนาน
ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติยาสามัญประจำบ้าน พ.ศ. 2536 ประกาศให้มียาสามัญประจำบ้าน จำนวน 42 รายการ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมผลิตออกจำหน่ายทุกกลุ่มยา ในชื่อยาตำราหลวง จำนวน 37 รายการ ในปี พ.ศ. 2542 กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศเรื่องยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันระบุให้มียาสามัญประจำบ้าน จำนวน 53 รายการ องค์การเภสัชกรรมผลิตออกจำหน่าย 21 รายการ ผลิตยาตำราหลวงชุด 7 รายการ และจัดชุดยาตำราหลวงเวชภัณฑ์ประจำรถ First Fid Kid ร่วมด้วย
ขอบคุณภาพจาก http://www.chiangraifocus.com/
เก็บความจาก
เว็บไซต์องค์การเภสัชกรรม: วิวัฒนาการเกี่ยวกับยาไทยและองค์การเภสัชกรรม
- 902 views