นโยบายทีมหมอครอบครัว เป็นที่กล่าวขานถึงไม่น้อยในวงการสาธารณสุขในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเป็นนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขมุ่งหวังที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและเสมอภาคตามนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้มีโครงการดูแลและพัฒนาสุขภาพให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยมีทีมสุขภาพเป็นผู้ดูแลใกล้ชิดทุกครัวเรือนทั่วทุกพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและชนบท ดังคำที่ว่า “ให้ประชาชนอุ่นใจ มีญาติทั่วไทยเป็นทีมหมอครอบครัว”
นโยบายทีมหมอครอบครัว (Family Care Team: FCT) จึงกำเนิดขึ้นและประกาศให้มีผลสู่การปฏิบัติในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ทีมหมอครอบครัวได้ถูกพัฒนารูปแบบการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ กล่าวคือ นอกจากบุคลากรในส่วนสาธารณสุขแล้วยังได้ขยายความร่วมมือให้ภาคประชาชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมเป็นทีมหมอครอบครัวในพื้นที่ระดับชุมชน โดยมีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกันภายในทีมระดับเดียวกันและเชื่อมโยงประสานงาน มีการส่งต่อระหว่างทีมหมอครอบครัวระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัดให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อให้การดูแลสุขภาพทั้งรักษา ส่งเสริม ป้องกัน บรรเทาทุกข์มีประสิทธิภาพตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นองค์รวมของประชาชนกลุ่มเป้าหมายและครอบครัว ตามที่กำหนดให้หมอครอบครัวที่เป็นบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1 คน รับผิดชอบดูแลประชากรประมาณ 1,250 – 2,500 คน
จากการดำเนินนโยบายทีมหมอครอบครัวสู่การปฏิบัติในช่วงเวลาที่ผ่านมา สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการศึกษาวิจัยประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายทีมหมอครอบครัวเพื่อประเมินผลการดำเนินงานด้านการรับรู้ต่อนโยบายและการสนับสนุนทรัพยากร การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ รูปแบบการดำเนินงานที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่ ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น รวมทั้งความพึงพอใจของผู้รับบริการกลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์ และนครศรีธรรมราช ผลการศึกษาพบว่า
ในช่วง 3 เดือนแรกบุคลากรรับรู้นโยบายไม่ชัดเจนและส่วนใหญ่รับรู้เฉพาะระดับผู้บริหาร และหัวหน้ากลุ่มงาน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนต่อมาการรับรู้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการมีช่องทางการสื่อสารนโยบายหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากการติดตามนโยบายสาธารณสุขของคณะรัฐมนตรีฯ
ส่วนใหญ่ยอมรับว่าเป็นนโยบายที่มุ่งประโยชน์เพื่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่ม
รูปแบบการดำเนินงานของพื้นที่มีความโดดเด่นต่างกัน บางพื้นที่เน้นการบูรณาการเข้ากับงานเดิม ในขณะที่บางพื้นที่ใช้แผนยุทธศาสตร์จังหวัดขับเคลื่อน เทคโนโลยีการสื่อสาร และฐานความเข้มแข็งจากชุมชนเสริมการดำเนินงาน ในขณะที่การสนับสนุนด้านทรัพยากรที่จำเป็นยังเป็นสิ่งที่พื้นที่ต้องการได้รับการตอบสนอง
สำหรับผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการทั้งกลุ่มเป้าหมายและญาติผู้ดูแล พบว่า คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจต่อการบริการทีมหมอครอบครัว โดยรวมอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางมาก (Mean=3.89,S.D.=0.54) ด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจมากที่สุด ได้แก่ ด้านความสะดวกเป็นธรรม ประหยัดค่าใช้จ่าย(Mean=3.98, S.D.=0.66) การบริการเป็นมิตรและเต็มใจดูแล (Mean=3.91, S.D.=0.62) ด้านการส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งพาตนเองในการดูแลสุขภาพ (Mean=3.84, S.D.=0.72) และด้านคุณภาพการดูแลของทีม (Mean=3.77, S.D.=0.61) ตามลำดับ
ในขณะเดียวกัน ผู้รับบริการส่วนใหญ่กล่าวว่า “รู้สึกมีความอบอุ่นและมีความสุข ยินดีที่มีทีมหมอครอบครัวมาดูแลที่บ้าน”
โดยสรุปการดำเนินงานตามนโยบายทีมหมอครอบครัวมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับศักยภาพและบริบททางภูมิประเทศ สังคมวัฒนธรรม ทิศทางการนำของผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานทุกระดับ ความเพียงพอและศักยภาพของทีมหมอครอบครัวทุกระดับ ทัศนคติ ขวัญกำลังใจของคนทำงาน งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการทำงาน ระเบียบข้อกฎหมาย ศักยภาพผู้ป่วยกับครอบครัว และประชาชน (ไว้ใจ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทุนทางสังคม
ดังนั้นการสนับสนุนเชิงนโยบายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยผลักดันการดำเนินงานทีมหมอครอบครัวให้ขับเคลื่อนต่อไปได้
นอกจากนี้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ควรนำไปใช้ในพื้นที่ด้วย ก็คือการบูรณาการ (Integration) การดำเนินงานทีมหมอครอบครัวเข้ากับงานอื่น การเรียนรู้เพื่อพัฒนา (Learning) และเดินตามแผนยุทธศาสตร์/แผนงานโครงการ (On Tract) เห็นคุณค่างานที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลดูแล (Value) เสริมพลังสร้างสรรค์งาน (Empowerment) และสร้างเอกภาพความเป็นทีม (Unity) รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ (Utilization Resources)
การศึกษานี้แสดงถึงข้อค้นพบที่เป็นการยืนยันว่านโยบายทีมหมอครอบครัวเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของการสาธารณสุขไทย ที่จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้อย่างทั่วถึง สร้างความอุ่นใจจากการบริการที่เป็นมิตร
ในขณะเดียวกันเป็นนโยบายที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวของบุคลากรทางสาธารณสุขในการทำงานเชิงรุก ทำให้เกิดการประสานความร่วมมือกันของทีมสหวิชาชีพเพื่อทำงานป้องกัน ส่งเสริม รักษาและฟื้นฟูสุขภาพให้ประชาชน
ประเด็นสำคัญคือการที่ภาคีเครือข่ายและภาคประชาชนได้เข้ามามีบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจนในด้านสุขภาพ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเสริมความเข้มแข็งของการสาธารณสุข และจะเป็นวิธีการนำไปสู่การพึ่งตนเองด้านสุขภาพของประชาชนและชุมชนต่อไป
เก็บความจาก
นพ.สมยศ ศรีจารนัย และคณะ.วิจัยประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายทีมหมอครอบครัว.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
- 23 views