ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบแต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือ คมส. ชุดใหม่ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน เผย 2 ปีโชว์ผลงานรูปธรรมความสำเร็จทั้งระดับชาติและพื้นที่ พร้อมหนุน สช.ทำงานเชิงรุก ผนึกกำลังหกกระทรวงหลักขับเคลื่อนงานตามแนวทาง “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ”

การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ณ ทำเนียบรัฐบาล

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบการแต่งตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ชุดใหม่ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี หลังจาก คมส.ชุดเดิม จะครบวาระในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้  

 “คมส.มีบทบาทสำคัญมากในการติดตามสนับสนุนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สร้างประโยชน์ต่อสาธารณชนและระบบสุขภาพของประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน มาสนับสนุนและผลักดันให้เกิดรูปธรรมความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้ขยายระยะเวลาของดำรงตำแหน่งจาก 2 ปีเป็น 3 ปี เพื่อให้การติดตามขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น”

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา คมส.ได้ดำเนินงานจนเกิดผลเป็นรูปธรรมหลายประการ อาทิ การเชื่อมประสานความร่วมมือระดับนโยบายกับกระทรวงหลักของแต่ละมติ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย จนเกิดยุทธศาสตร์หรือร่างกฎหมายระดับชาติ เช่น  

พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2550

ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ....,

ยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

การจัดทำแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนที่จะนำไปสู่การพิจารณาทบทวนชุดสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้อง 

รวมทั้งการขับเคลื่อนมติไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่จนสำเร็จผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดและพื้นที่ปฏิบัติการนำร่อง เช่น มติการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนในพื้นที่ 27 จังหวัด มติการแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน นำร่องในจังหวัดปทุมธานี ร้อยเอ็ด ลำปาง และมติระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนจังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

นอกจากนั้น นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้รายงานการดำเนินการแผนการหนุนเสริมการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมกับหน่วยงานระดับกระทรวง โดยคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เข้าพบหารือร่วมกับปลัดกระทรวงและผู้บริหารของ 6 กระทรวงหลักที่รัฐมนตรีเป็นกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานอย่างใกล้ชิด

“การดำเนินงานตามแผนดังกล่าว ถือเป็นบทบาทใหม่ของ สช. ที่มุ่งทำงานเชิงรุกในการสร้างความร่วมมือระดับนโยบาย และประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของกระทรวงต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาและปรับใช้ กลไกหรือเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ตามแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพหรือ Health in all policies ต่อไป”

ทั้งนี้ สช.จะสนับสนุนให้ทั้งหกกระทรวงหลักได้ใช้ช่องทางการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในการแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมในการทำงานระหว่างกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงสนับสนุนการเสนอประเด็นนโยบายสำคัญของกระทรวงฯ เข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และกำหนดประเด็นขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น จะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมใช้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพแบบป้องกันเพื่อเตรียมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ผลักดันร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยจาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พ.ศ. .... ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ และการพัฒนาการทำงานในเรื่องความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ (Health Literacy) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของ คมส.ชุดใหม่ ประกอบด้วย

1. พัฒนาระบบกลไกและวางยุทธศาสตร์แนวทางการขับเคลื่อนและติดตามการ ดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม

2. เชื่อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรและภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม ในทุกระดับ

3. ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อแสวงหาแนวทางการขับเคลื่อนมติที่เหมาะสมและรายงานผลต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

4.ให้ข้อเสนอแนะและคำปรึกษาต่อคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เกี่ยวกับการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อจะบรรจุเป็นระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

5. ให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และกลไกอื่นๆ เกี่ยวกับการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

6. พัฒนาการสื่อสารข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนและติดตาม การดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อสาธารณะ

7. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น และ

8. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมอบหมาย