กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมพัฒนาระบบการสุขศึกษาแนวใหม่ประเทศ ยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพในระดับบุคคล มาเป็นเกราะป้องกันด้านสุขภาพ ลดปัญหาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย ผลการสำรวจล่าสุดพบกลุ่มเด็กวัยเรียนมีความรอบรู้ด้านสุขบัญญัติแห่งชาติในระดับพอใช้ แต่ในกลุ่มวัยทำงานพบว่าส่วนใหญ่มีความรอบรู้เรื่อง 3อ.2ส. อยู่ในระดับไม่ดี
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดการประชุมความรอบรู้ด้านสุขภาพ ความท้าทายของสุขศึกษาแนวใหม่ในประเทศไทย (Thailand Health Literacy Forum 2017 “Health Literacy : A Challenge for Contemporary Health Education in Thailand”) ซึ่งจัดโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ระหว่างวันที่ 22-23 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี กทม. โดยมีนักวิชาการสาธารณสุขทั่วประเทศ และสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชน ร่วมประชุมรวม 250 คน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การจัดประชุมเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนางานสุขศึกษาแนวใหม่ พัฒนาขีดความสามารถระดับบุคคลในการักษาสุขภาพดีไว้อย่างยั่งยืน พัฒนาระบบบริการสุขภาพไทยโดยเน้นป้องกันโรคมากกว่ารอให้เจ็บป่วยแล้วค่อยมารักษา ตามข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการโรคเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม และกำลังเป็นปัญหาระดับโลก รวมทั้งเป็นการลดความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพ เป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ จึงต้องเร่งเสริมสร้างและยกระดับให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยเน้นการพัฒนาทักษะทางปัญญาและสังคม ให้เป็นเกราะป้องกันด้านสุขภาพ ซึ่งจะลดโอกาสและความเสี่ยงการเจ็บป่วยอย่างยั่งยืน
การประชุมครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เชิญ ศาสตราจารย์ ดร.ดอน นัทบีม (Professor Dr.Don Nutbeam) จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยเฉพาะ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก มาเป็นวิทยากรบรรยายสร้างความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่บุคลากรไทยให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2558 พบสาเหตุการเสียชีวิตประชากรไทย เกิดมาจากโรคเรื้อรังสูงเป็นอันดับหนึ่ง โดยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง จำนวน 73,938 คน รองลงมา คือ โรคระบบไหลเวียนโลหิต 61,871 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดของปี 2558 จำนวน 445,964 คน
ด้าน นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ผลการประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ ล่าสุดในปี 2559 ในกลุ่มเด็กวัยเรียน อายุ 7-14 ปี ซึ่งเน้นในเรื่องสุขบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการดูแลสุขภาพ พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้ เฉลี่ยร้อยละ 63 และอยู่ในระดับดีมาก เฉลี่ยร้อยละ 32 ส่วนในกลุ่มวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี เน้นเรื่องความรู้และพฤติกรรมตามหลักการมีสุขภาพดี 3 อ. 2 ส. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา พบกว่าครึ่งอยู่ในระดับไม่ดี โดยมีส่วนน้อยที่อยู่ในระดับดีมาก เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ซึ่งจากการศึกษาวิชาการพบว่าผู้ที่มีความรอบรู้ทางด้านสุขภาพต่ำจะเสี่ยงเจ็บ ป่วย มากกว่าคนที่มีความรู้อยู่ในระดับดี
ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2560 ได้ให้กองสุขศึกษา เร่งจัดทำแผนระยะยาวในการสร้างความรอบรู้ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ 6 คุณลักษณะ คือ
1.ความรู้ความเข้าใจ
2.การเข้าถึงข้อมูลและบริการสุขภาพ
3.ทักษะการสื่อสาร
4.ทักษะการตัดสินใจ
5.การจัดการตนเอง
และ 6.การรู้เท่าทันสื่อ
ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวกำหนดสุขภาพในระดับบุคคล และพัฒนาช่องทางการสื่อสารความรู้สุขภาพผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนเข้าถึงได้ พร้อมทั้งจัดระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมและเตือนภัยให้ทันสถานการณ์ โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาให้ประชาชนมีความรอบรู้และพฤติกรรมด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องอยู่ในระดับดีมากกว่าร้อยละ 80
- 119 views