กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะปฏิบัติที่ถูกต้องเรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนพื้นที่เสี่ยง 459 แห่งใน 27 จังหวัด เพื่อปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้มีความรู้ความเข้าใจ เห็นความสำคัญในปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี
วันนี้ (8 มีนาคม 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่องการจัดการเรียนการสอนพยาธิใบไม้ตับและเร็งท่อน้ำดี เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัด ปัญหาพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี ตามมติสมัชชาสุขภาพเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ในการแก้ไขและป้องกัน ปัญหา โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างยั่งยืน
นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาคีเครือข่ายกระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักถึงการปลูกฝังจิตสำนึกของเยาวชน เพื่อให้นักเรียนเยาวชนตั้งแต่ปฐมวัย มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ในปี พ.ศ.2560 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะปฏิบัติที่ถูกต้องเรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนพื้นที่เสี่ยง 459 แห่งใน 27 จังหวัด ส่วนกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือในการสนับสนุนองค์ความรู้และคู่มือแนวทางในการจัดทำหน่วยการเรียน การจัดการเรียนรู้หรือสื่อการเรียนรู้ เรื่องโรคพยาธิใบไมตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยตั้งเป้าให้เยาวชนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี สามารถนำความรู้สู่การปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมเกิดพฤติกรรมสุขภาพและเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน
ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ขับเคลื่อนโครงการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีถวายเป็นพระราชกุศลฯ ซึ่งมีมาตรการ ดังนี้ คือ
1.การสร้างเสริมสุขภาพ
2.การควบคุมป้องกันคัดกรองพยาธิ
3.การคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี
4.การผ่าตัดการดูแลแลประคับประคอง
5.การสื่อสารสาธารณะ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดกิจกรรมรณรงค์ และสร้างกระแสปรุงปลาสุก สนับสนุนผู้ประกอบการร่วมมือปรุงปลาปลอดพยาธิ พื้นที่เป้าหมาย 27 จังหวัดเสี่ยงสูง 138 อำเภอ 209 ตำบล
ผลการดำเนินงานในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกกระทรวง โดยการคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ ในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ให้ยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จำนวน 80,000 ราย ตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ในประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 160,000 ราย ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและผ่าตัด จำนวน 800 ราย ได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประครอง จำนวน 800 ราย การคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีเพื่อให้เข้าสู่การรักษาผ่าตัดที่รวดเร็วจะทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาว และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- 106 views