จากนโยบาย คลินิกหมอครอบครัว (PCC : Primary care Cluster) ของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข จะจัดแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงสู่ตำบล เพื่อให้บริการประชาชน ทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี หลายท่านเป็นกังวล ว่าจะเอาอย่างไรดี ดูเหมือนมีปัญหาหลากหลาย
ด้วยคนกระทรวงสาธารณสุขเป็นคนเก่งคิด เก่งทำ ดังนั้นแม้จะเข้าใจหลักการ ก็ยังมักจะมีคำว่า แต่..... (ท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า คนกระทรวงสาธารณสุขชอบบอกว่า Yes, But…) และชอบคิดแตกยอดไปจนสุดกู่ในมุมมองของแต่ละคน แล้วก็ต่างแสดงความคิดเห็นจนสับสนไปตาม ๆ กัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่เสียหาย หากไม่ Drama ตีความสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่หน่วยนโยบายแอบแฝงไว้
สิ่งที่สำคัญคือ ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจ เชื่อใจ ไว้วางใจ ในคลินิกหมอครอบครัว ว่าสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริง ประชาชนจะมีหมอประจำตัวที่สามารถปรึกษาได้ มีหมอเป็นญาติ ได้จริง
ดังนั้น ผู้บริหารทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐบาลจนถึงระดับพื้นที่ จึงควรทบทวนใน 4 ต้อง 2 ไม่ ต่อไปนี้
4 ต้อง
1.ต้องคิดว่าเป็นการลงทุน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ความตอนหนึ่งว่า ...Our loss is our gain ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา...ในการกระทำใด ๆ ถ้าเรายอมลงทุนลงแรงไปก็เหมือนเสียเปล่า แต่ในที่สุดเรากลับจะได้รับผลดี ทั้งทางตรง ทางอ้อม...
เมื่อเราจะทำธุรกิจอะไรสักอย่าง เห็นอยู่ว่าผลตอบแทนในอนาคตมีแน่นอน ถึงแม้วันนี้ไม่มีเงิน กู้มาลงทุนก็ต้องยอม เมื่อบทพิสูจน์จากหลายประเทศ จากหลายการศึกษาชัดเจนว่า การทำระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ดี เป็นการเสริมสร้างสุขภาพ ประชาชนมีความรู้ทางสุขภาพ ลดป่วย ลดตาย ลดค่าใช้จ่าย ทั้งของภาครัฐและของประชาชน ถึงวันนี้ต้องทุ่มเทคน ทุ่มเทงบประมาณ ทุ่มเทสรรพกำลัง ก็ต้องลงมือทำ ไม่ทำวันนี้ก็มีแต่จมอยู่กับการพยายามแก้ปัญหาปลายทางอยู่ร่ำไป
ต้องมองในมุมที่เป็นประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชน และผลกระทบที่จะได้ต่อรัฐ ไม่ใช่เอาความกลัวขาดทุน กลัวสูญเสียอำนาจและกลัวสูญเสียบทบาทของตนมาเป็นตัวตัดสินใจในการดำเนินงาน
2.ต้องรวมองค์ เดิมเราต่างแยกทีมตาม ศสม./รพ.สต.ดูแลประชาชนในแต่ละ ศสม./รพ.สต. คนกระทรวงสาธารณสุขมักมีดีแบบแยกส่วน เรียกว่าแต่ละคนมีองค์ลง เมื่อร่วมกันเป็น ทีมหมอครอบครัว จะดูแลแบบองค์รวม ต้องรวมองค์ให้ได้ คือการรวมทีมเดิมของทุกคนใน ศสม./รพ.สต.มาเป็นทีมเดียวกัน คิดร่วมกันว่าจะดูแลคน 10,000 คนของเราทั้งหมดอย่างไร
3.ต้องตัดใจ การจัดบริการสุขภาพระบบเดิม เราพยายามจัดบริการให้ครอบคลุมผู้รับบริการทุกคน เราจึงทำได้แบบ มอง ๆ แล้วเขียนใบสั่งยา รอ 5 ชั่วโมง ได้พบหมอ 1 นาที แล้วออกไปรอรับยาต่ออีก 2 ชั่วโมง ทำไมรถไฟยังสามารถมีตู้ชั้นหนึ่งชั้นสองชั้นสามอยู่บนขบวนเดียวกันได้ ไม่มีเงิน จองตั๋วไม่ทัน อยากเดินทางก็ไปตีตั๋วยืนแออัดยัดเยียดแบบที่นั่งไม่มีเต็มชั้นสามโน่น ก็ไม่เห็นใครบ่นว่าอะไร แล้วทำไมเราต้องเป็นกังวลใจ จะดูแลประชาชนทุกคนให้ครบถ้วน ทั้งที่ ที่ผ่านมาก็ทำไม่ได้ดีอยู่แล้ว มีแต่รถไฟชั้นสามอยู่แล้ว
ครั้งนี้จึง ต้องตัดใจ ตัดตอนมาทำทีละ 10,000 คน จัดคนดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ 10,000 คนให้ดี คนนอก catchment ให้อยู่กับระบบเดิมไปก่อน ไม่ต้องไปห่วง ทำดีเป็นทีม ๆ ไป ครบ 10 ปีก็มีคนไปดูแลครบถ้วนเองแหละ
4.ต้องคิดกลับหัว คือจะทำ PCC แต่ยังเอางานเดิมที่โดนสั่งมา เอากิจกรรมเดิม ๆ มาทำให้รกรุงรัง กังวลว่าจะขาดเนื้องานไปรายงาน ในที่สุดก็ทำงานเดิมในชื่อใหม่ โยนเสื้อโหลที่ส่วนกลางตัดให้ ออกแบบตัดเสื้อให้เหมาะสมกับตัวเสียที คิดระบบบริการตามบริบทของพื้นที่ เอา Outcome เป็นตัวตั้ง ว่าต้องการให้ประชาชนใน catchment 10,000 คนของของเรามีสุขภาพดีอย่างไร มีความรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) อะไรบ้าง เอางานเดิมที่มีอยู่มากมายมาคัดสรรแต่ที่จำเป็น ร่วมกับกิจกรรมที่ควรดำเนินการใหม่ เป็น Input แล้วกำหนด Process ใหม่ ว่าจะทำอะไรบ้างดีกับประชาชน 10,000 คน ของเรา
2 ไม่
1.ไม่คิดแยกส่วน เมื่อบอกจะเป็นหมอครอบครัว จะทำแบบ Holistic Care ทำแบบ Comprehensive Care แล้วทำไมยังไปแยกงานที่ทำเป็นส่วน ๆ เหมือนเดิม ไปสำรวจเด็กที ไปสำรวจวัยรุ่นที ไปตรวจเบาหวานที ตรวจความดันที แล้วกลับมาบอกว่ามีกลุ่มเสี่ยงเบาหวานกี่คน กลุ่มป่วยกี่คน ทำไมไม่ดูทั้งครอบครัว มีกี่คนก็ดูทุกคน มีกี่โรคก็ดูทุกโรค ทุกอวัยวะ แล้วสรุปให้ได้ว่า ดูไปกี่ครอบครัวแล้วในประชาชน 10,000 คน ที่เรารับผิดชอบ มีกี่ครอบครัวที่ปกติดี กี่ครอบครัวที่ป่วย ที่เสี่ยง ด้วยโรคต่าง ๆ จัดการให้ครอบครัวมีสุขภาวะที่ดีไปเท่าไร
2.ไม่ทำเอาใจนาย ปลัดกระทรวงมีนโยบายชัดเจนว่า เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ แปลว่าหากเราทำเยอะ ๆ แต่ไม่ได้คุณภาพ ประชาชนก็ไม่ได้รับในสิ่งที่แตกต่างที่ดีขึ้น ประชาชนก็ไม่ประทับใจ ไม่ใช้บริการ ก็เหมือนร้านอาหารเปิดสาขาเยอะแยะ แต่คุมคุณภาพไม่ได้ในที่สุดก็เจ๊งทุกสาขา ไม่ต้องแข่งกันรายงานปริมาณ แต่ควรแข่งกันรายงานคุณภาพ ใจเย็น ๆ มีเวลาตั้ง 10 ปี
ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันปฏิรูประบบบริการสุขภาพของประเทศ ทำสิ่งที่พวกเราชาวสาธารณสุขคิดและอยากทำมานานให้สำเร็จ เราเป็นสาธารณสุข 4.0 ต้องคิด ทำน้อยได้มาก เปลี่ยนปัญหาและความท้าทายให้เป็นศักยภาพและโอกาส สร้างความมั่นคงทางสุขภาพ นำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตบริการสุขภาพที่ 3
เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 11 มีนาคม 2560 http://buabangbai.blogspot.com
นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์
- 182 views