รพ.สต.ปะโค ตั้งอยู่ใน ต.ปะโค อ.เมือง จ.หนองคาย เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะมีบุคลากรจำนวนน้อย แต่ด้วยความร่วมมือกับโรงพยาบาลแม่ข่าย การสนับสนุนของ CUP ก็ช่วยให้พัฒนาศักยภาพจนผ่านเกณฑ์การประเมิน รพ.สต.ติดดาวได้เช่นกัน

อิสรีย์ จันทรมนตรี ผู้อำนวยการ รพ.สต.ปะโค กล่าวว่า รพ.สต.ปะโค ถือเป็น รพ.สต.ขนาดกลาง ดูแลประชากรในพื้นที่ประมาณ 6,300 คน แต่มีบุลคลากรน้อย คือมีนักวิชาการ 1 คน และพยาบาลอีก 2 คน โดยหนึ่งในพยาบาลก็เป็นวิทยากร ครู ก. ให้กับทางจังหวัด เลยมีเวลาทำงานใน รพ.สต. เดือนละ 2 สัปดาห์เท่านั้น การทำงานที่ผ่านมาก็ทำไปตามปกติ เพียงแต่ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ให้ชัดเจน เมื่อมีเกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาวเข้ามา ก็ทำให้การทำงานมีระเบียบแบบแผนและเป็นมาตรฐานมากขึ้น

แม่ข่ายต้องสนับสนุน

อิสรีย์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาตามเกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาว คือทั้ง CUP และโรงพยาบาลแม่ข่ายต้องให้การดูแลสนับสนุนในทุกๆ เกณฑ์ของ 5 ดาว ต้องเดินเคียงข้างไปกับ รพ.สต. ซึ่งการทำงานในช่วงแรกยังติดขัดอยู่บ้าง เพราะ CUP อาจจะมองว่า รพ.สต.ติดดาว เป็นงานที่ รพ.สต.ต้องทำเอง จึงยังไม่ได้ลงมาช่วย แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ก็เข้าใจกันมากขึ้นและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนการทำงานกับภาคีเครือข่ายในชุมชนถือว่าราบรื่นเป็นอย่างดี เพราะที่ผ่านมา รพ.สต.ปะโคจะประสานงานกับภาคีเครือข่ายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

“ตอนมีเกณฑ์มาช่วงแรกๆ รู้สึกว่าแต่ละงานมีรายละเอียดมาก อย่างงานแล็บ งาน IC งานเภสัช งาน NCDs มีรายละเอียดเยอะมากขึ้น แต่ถ้าโรงพยาบาลแม่ข่ายให้การสนับสนุน ทุกอย่างจะเป็นระบบ เช่น เครื่องมือแล็บ แต่ก่อนยังไม่เป็นระบบ แต่ตอนนี้ทำเป็นแนวเดียวกันทั้งอำเภอ แต่ก่อนการเขียนระเบียบเกี่ยวกับเครื่องมืออาจจะทำปีละครั้ง แต่พอมีเกณฑ์ชี้วัดก็ทำให้เราเทียบสอบอุปกรณ์มากขึ้นตามตัวชี้วัด หรือในส่วนของคนไข้ ผู้สูงอายุ ติดบ้านติดเตียง แต่ก่อนทีม รพ.สต.ออกเยี่ยมกันเอง  แต่ระยะหลังก็เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลแม่ข่าย มีทีมสหวิชาชีพลงมาช่วย ทั้งแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพ โภชนากร นักสังคมสงเคราะห์ มาช่วยกันดูแลผู้ป่วย” ผู้อำนวยการ รพ.สต.ปะโค กล่าว

อิสรีย์ กล่าวด้วยว่า การที่มีแพทย์ออกมาดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงแบบนี้เชื่อว่าไม่ได้มีทุกจังหวัด จุดเด่นของพื้นที่นี้ คือมีแพทย์จิตอาสาออกมาเยี่ยมร่วมกับทีม รพ.สต.เดือนละ 1 ครั้ง ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ก็จะประสานกันเอง เหมือนเป็น fast track สำหรับคนไข้ ทางเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ก็จะมั่นใจมากขึ้น เพราะออกไปกับทีมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กล่าวคือต้องมีการสนับสนุนจากข้างบนด้วย ไม่ใช่ให้ส่วนปฏิบัติทำกันเอง

ขณะที่ในส่วนของการปรับปรุงโครงสร้างอาคารต่างๆ ก็ถือเป็นปัญหาเพราะไม่มีงบสนับสนุน แต่ทาง รพ.สต.ก็ทยอยปรับปรุงมาเรื่อยๆ ตามศักยภาพและบริบทของพื้นที่ เช่น เกณฑ์ประเมินต้องมีการแยกห้องตรวจพัฒนาการเด็ก ห้อง ANC ห้องตรวจภายใน ห้องคลินิกต่างๆ แต่ด้วยข้อจำกัด ทาง รพ.สต.จึงใช้บางห้องที่ใช้ร่วมกันได้ ให้บริการคนละวัน เพื่อไม่ให้ผู้รับบริการมาชนกัน

“ทีนี้ด้วยมาตรฐานที่อยากให้มีห้องแยกชัดเจน แต่ก็อย่างที่บอกว่าไม่มีงบประมาณจากเบื้องบนลงมา เงินบำรุงก็ใช่ว่าจะได้เยอะ ส่วนมากได้จากการทำงานคีย์ข้อมูลแลกเอาเงิน ประชาชนจะสุขภาพดีถ้าคีย์ 100% (หัวเราะ) พอทีมประเมินลงมาดู ทีมนี้ดู ANC ทีมนี้ตรวจพัฒนาการเด็ก ทีมนี้ให้คำปรึกษาวันรุ่น มา 10 ทีมก็อยากให้มี 10 ห้อง แต่เรามีคน 3 คน (หัวเราะ) ตอนนี้ก็เลยจัดเป็น Corner ไปก่อนในบางส่วนที่ใช้ร่วมกันได้ เพราะถ้าแยกเป็นห้องไปเลย มีเครื่องมือเยอะ การดูแลเราจะไม่ทั่วถึง ก็เลยเอาเป็นว่าทำอย่างไรให้สะดวก สะอาด ได้มาตรฐาน พอจะทำได้ตามบริบทของเรา ไม่ใช่แยกห้องออกไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายการดูแลมากขึ้นอีก” ผู้อำนวยการ รพ.สต.ปะโค กล่าว

ท้องถิ่นให้การสนับสนุน

ผู้อำนวยการ รพ.สต.ปะโค กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการทำงานกับเครือข่ายในชุมชน ทาง รพ.สต.จะประสานกับทุกเครือข่ายที่สามารถให้ความช่วยได้ แต่ส่วนใหญ่งบประมาณจะได้จากกองทุนสุขภาพตำบลและจากเทศบาล ถือว่าโชคดีที่ชุมชนเข้าใจและให้การสนับสนุนปีละ 2 แสนบาท

“เราให้ข้อมูลให้ที่ประชุมทราบ สรุปปัญหาและอุปสรรคว่าทำไมต้องทำแบบนี้ เราสามารถบอกได้ตั้งแต่ต้นจนจบว่าที่ต้องทำแบบนี้ๆ เพราะอะไร เมื่อท้องถิ่นเข้าใจก็ยินดีให้การสนับสนุน แต่อาจปรับเปลี่ยนนิดหน่อยบ้างตามบริบท เช่น งานผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ก็เป็นงานหลักในการทำงานร่วมกับท้องถิ่น บางทีผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้อง เราก็ประสานท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณซื้ออุปกรณ์การล้างมือ อุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ท้องถิ่นสนับสนุนได้” อิสรีย์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมแล้ว อิสรีย์ มองว่าการต้องขอรับการสนับสนุนจากการทุนสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บางครั้งอาจไม่ทันการณ์ เพราะเท่าที่เห็นตัวอย่างมา บางท้องถิ่นให้การสนับสนุน รพ.สต.ล่าช้า บางแห่งโอนงบสนับสนุนให้ประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค. ซึ่งอยู่ในช่วงปลายปีงบประมาณแล้ว บางพื้นที่ รพ.สต.ทำโครงการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานแต่ท้องถิ่นไม่สนับสนุนงบประมาณ กลายเป็นว่าทั้งปีไม่ได้ตรวจเลย ซึ่งคนที่เสียประโยชน์ที่สุดก็คือประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับบริการสุขภาพ

“เหมือนให้เราทำงานแต่เอาเงินไปฝากไว้กับกระเป๋าคนอื่น แล้วต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในการที่จะไปเอาเงินคืนมา คิดว่าควรให้งบประมาณโดยตรงกับคนปฏิบัติงานด้านสุขภาพเลย น่าจะลดขั้นตอนมากกว่า” อิสรีย์ ให้ความเห็น

ให้กำลังใจกันและกัน

ผู้อำนวยการ รพ.สต.ปะโค กล่าวอีกว่า เคล็ดลับการทำงานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย รพ.สต.ติดดาว 5 ดาว 5 ดี ของ รพ.สต.ปะโค คือการทำงานเป็นทีมและมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อเดินไปในทางเดียวกัน ที่นี่แม้จะมีแม่งานหลักในแต่ละด้านแต่ทุกคนสามารถช่วยกันได้หมด ไม่ได้แยกชัดเจนว่างานคุณงานฉัน

“ทุกคนต้องมีใจดวงเดียวกัน ไปทางเดียวกัน ร่วมกันทำ ร่วมกันคิด ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยอยู่สำหรับทีมเจ้าหน้าที่แค่นี้ แต่ถามว่าทำได้ไหม ก็ทำได้ กำลังใจก็มาจากไหน ก็มาจากทีมงานด้วยกันนี่แหละ งานทั้งหลายก็เป็นงานที่ทำอยู่แล้ว เพียงแต่จัดหมวดหมู่ใหม่ ถ้าเราเปิดใจรับตรงนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา มันไม่ยาก แค่ให้เป็นระบบเฉยๆ ตอนแรกที่เห็นก็คิดในใจว่าเยอะจังเลย แต่พอได้ทำก็รู้สึกว่าเป็นระบบมากขึ้น”

อิสรีย์ กล่าวอีกว่า ผลสะท้อนจากการพัฒนา รพ.สต.สู่เกณฑ์ติดดาว พบว่า ผู้ป่วยได้รับประโยชน์มากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือเมื่อมีการปรับปรุงอาคารสถานที่ที่เป็นสัดส่วนมากขึ้น ผู้รับบริการจะชมอยู่บ่อยครั้งว่าใช้บริการสะดวก สะอาด และในการออกตรวจเยี่ยมผู้ป่วย ชาวบ้านจะรู้สึกดีถ้ามีแพทย์ออกไปกับทีม รพ.สต.ด้วย เมื่อรวมกับทีมสหวิชาชีพออกไปแต่ละครั้ง ชาวบ้านก็ดีใจ แม้ไม่ได้เจ็บป่วยแต่ก็อยากให้เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมที่บ้านด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ รพ.สต.ปะโค มีข้อท้วงติงเรื่องระบบงานเล็กน้อย ว่าส่วนใหญ่การให้บริการคนไข้ไม่ใช่ปัญหาของเจ้าหน้าที่ แต่ที่อยากให้ลดลงคือเรื่องงานเอกสาร งานบันทึกข้อมูลซึ่งเพิ่มขึ้นมาเยอะมาก

“เราจะมีความสุขมาก ถ้าแต่ได้แค่ตรวจคนไข้กับออกพื้นที่ (หัวเราะ) 5-10 ปีก่อน เวลาออกตรวจเยี่ยมคนไข้ เสร็จงานก็นั่งกับชาวบ้าน นั่งกินข้าวกัน พูดคุยกันเรื่องสุขภาพ ให้คำแนะนำในวงอาหาร แต่ปัจจุบันออกเยี่ยมชาวบ้านตอนเช้า ตกบ่ายก็ต้องรีบเข้ามาเคลียร์ข้อมูล เคลียร์งานที่ต้องส่ง อย่างงานพัฒนาการเด็ก มีข้อมูลต้องคีย์ 3 โปรแกรม แต่ละตัวชี้วัดก็ทำปลีกย่อยๆ กันไป งานผู้สูงอายุให้คัดกรอง 10 อย่าง นอกจากนี้ ในส่วนของเกณฑ์การประเมินคิดว่าไม่น่าจะปรับเปลี่ยนเร็วขนาดนี้ มันก็คืองานเดิมแต่จัดหมวดหมู่ใหม่ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะโยกไปทำไมในเมื่อมันเป็นอันเดิม ถ้าปรับใหม่ พวกเอกสาร แฟ้มงานมันก็เพิ่มมากขึ้น เพิ่มค่าใช้จ่ายในระดับหนึ่ง” อิสรีย์ให้ความเห็น

นอกจากนี้ รพ.สต.ปะโค ยังต้องการการสนับสนุนด้านบุคลากรให้มากขึ้น เช่น หากมีแพทย์ออกมาออกตรวจที่ รพ.สต.ก็จะดีมาก เพราะศักยภาพของทีมยังไม่พร้อมในการใช้อุปกรณ์การแพทย์ในคลินิกต่างๆ ตามที่เกณฑ์ประเมิน รพ.สต.ติดดาวกำหนด