การแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์แบบตะวันตกได้เข้ามาในประเทศไทยพร้อมๆ กับการมาของนักสอนศาสนาคริสต์ในยุคของการแผ่ขยายอิทธิพลของชาติตะวันตก มิชชันนารีที่เข้ามาในประเทศไทยนอกจากภารกิจการเผยแผ่ศาสนาแล้วยังมีภารกิจอันเป็นประโยชน์แก่ชาวพื้นเมือง ได้แก่ การสอนหนังสือและการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ จนชาวบ้านพากันเรียกมิชชันนารีว่า “หมอ” โดยที่มิชชันนารีบางคนไม่ได้ศึกษาด้านการแพทย์มาก่อน
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นกล่าวกันว่าไม่มีแพทย์ไทยแผนปัจจุบันแม้แต่คนเดียว โดยในช่วงร้อยปีระหว่าง พ.ศ.2371-2471 มีมิชชันนารีที่เป็นแพทย์ปริญญาเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยถึง 46 คน แต่ผู้ที่นำการแพทย์แผนปัจจุบันและวิทยาศาสตร์ เข้ามาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักกันดีมี 2 คน คนแรกเป็นแพทย์คือ นพ.บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เข้ามาในปี พ.ศ. 2377 อีกคนเป็นทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์คือ นพ.เฮาส์ (Reynolds Samuel House)
นพ.บรัดเลย์ Dan Beach Bradley
นพ.บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) หรือ “หมอบรัดเลย์” เป็นบุคคลสำคัญที่ได้นำการแพทย์แผนปัจจุบันมาสู่ประเทศไทย เขาเป็นคนแรกที่ทำการถ่ายเลือดเพื่อแก้ไขผู้ป่วยที่เสียเลือดไปเป็นจำนวนมาก เป็นผู้ตั้งร้านจำหน่ายยาและเป็นต้นกำเนิดความคิดของการทำคลินิกแห่งแรกในสยาม อีกทั้งยังเป็นผู้นำวิธีป้องกันโรคไข้ทรพิษหรือฝีดาษที่ระบาดในสมัยนั้นด้วย
การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2378 โดยหมอบรัดเลย์ เป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ สยามในเวลานั้นประสบปัญหาเรื่องการขนส่งพันธุ์หนองฝีวัวที่ใช้ปลูกฝี ซึ่งต้องนำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้หมอบลัดเลย์ต้องใช้หนองฝีจากผู้ที่ปลูกฝีขึ้นดีแล้วมาใช้ต่อ และหมอบรัดเลย์ยังได้พยายามหาวิธีการที่จะทำให้มีพันธุ์หนองฝีไว้ใช้ได้ตลอด จึงได้ทำการทดลองผลิตพันธุ์หนองฝีขึ้นเองในปลายปี พ.ศ.2385 โดยการฉีดหนองฝีจากผู้ป่วยไข้ทรพิษเข้าไปในวัวจนประสบความสำเร็จ ทำให้ในสมัยนั้นภารกิจหลักของบรรดามิชชันนารีก็คือการเดินทางออกไปปลูกฝีตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
นพ.ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ Reynolds Samuel House
สำหรับ นพ.ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ (Reynolds Samuel House) เดินทางจากสหรัฐอเมริกามาถึงสยาม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2390 ขณะที่ นพ.บรัดเลย์ได้เดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกาชั่วคราวแล้วเพียง 2 สัปดาห์ เมื่อข่าวการมาของ “หมอฝรั่งคนใหม่” ได้แพร่สะพัดออกไปก็มีผู้ป่วยมาขอรับการรักษาจาก นพ.เฮาส์เป็นจำนวนมาก
นพ.เฮาส์ได้เปิดคลินิกขึ้น ณ ที่ทำการเดิมของ นพ.บรัดเลย์ ซึ่งเป็นเรือนแพหลังเล็ก ๆ หน้าสำนักงานมิชชันนารี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรังหรือผู้ได้รับบาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาท
ในปี พ.ศ.2390 นพ.เฮาส์ได้ให้ยาระงับความรู้สึกเป็นครั้งแรกด้วยอีเทอร์ ผู้ป่วยเป็นหญิงชราอายุ 84 ปี ถูกไม้รวกตำเข้าเนื้อลึก 8 นิ้ว โดยไม้ที่ตำหักคาแผลอยู่ นพ.เฮาส์อ่านพบเรื่องการใช้อีเทอร์ในวารสารการแพทย์จึงได้ทดลองใช้ดูบ้างทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีเครื่องมือสำหรับให้อีเทอร์โดยเฉพาะการผ่าตัด แต่นับว่าการให้ยาระงับความรู้สึกด้วยอีเทอร์ครั้งนั้นสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรก ๆ ในทวีปเอเชีย เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นเพียง 2 ปี หลังการใช้อีเทอร์ในทางศัลยกรรมครั้งแรกในโลก ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการให้ยาระงับความรู้สึกครั้งแรกในเกาะสิงคโปร์อาณานิคมของอังกฤษ
เมื่อกล่าวถึง นพ.เฮาส์ เขานับเป็นศัลยแพทย์คนแรกในสยามที่ศึกษาด้านการใช้ยาระงับความรู้สึก และอาจกล่าวได้ว่านอกจากหมอบรัดเลย์แล้ว นพ.เฮาส์เป็นหมอฝรั่งที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น กล่าวคือในช่วงเวลา 18 เดือนแรกเฮาส์ได้รักษาผู้ป่วยไปแล้วถึง 3,117 ราย กระทั่งคนสยามเรียกขานเขาว่า “หมอเหา”
เมื่อคราวเกิดอหิวาตกโรคระบาดในปี พ.ศ. 2492 ซึ่งตรงกับการระบาดครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ในโลก มีผู้เสียชีวิตในสยามไม่น้อยกว่า 40,000 คน นพ.เฮาส์ได้ทำการช่วยเหลือผู้ป่วยอหิวาตกโรคอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยโดยไม่เกรงว่าจะติดโรคในระหว่างการบำบัดผู้ป่วย
นอกจากนี้เขายังได้ตระเวนทำการปลูกฝีแก่ประชาชนทั้งในเมืองหลวงและตามหัวเมืองต่างๆ ตลอดจนถวายการรักษาแก่เจ้านายในวังเป็นครั้งคราว บางครั้งต้องนอนค้างคืนเปลี่ยนเวรในการถวายการรักษา อย่างไรก็ตามหลังจากการทำงานด้านการแพทย์ได้ 6 ปี เฮาส์ได้อุทิศชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการเผยแผ่คริสต์ศาสนา
ในขณะเดียวกัน นพ.เฮาส์ยังสนใจวิทยาศาสตร์หลายสาขาได้แก่ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาและได้ถ่ายทอดวิชาเหล่านี้แก่คนไทย เขาได้ทำการทดลองวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสรีระวิทยา การใช้โครงกระดูกมนุษย์ประกอบการสอนทำให้คนแตกตื่นขอดูกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังได้รายงานการค้นพบหอยชนิดใหม่ในประเทศไทย 2 ชนิด คือ Cyclostoris Housei และ Spiraculum Housei และต่อมาได้เป็นผู้บุกเบิกการตั้งโรงเรียน Samray Boy’s School (หรือโรงเรียนเด็กชายที่สำเหร่) อันเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และ Harriet House School (หรือโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง) อันเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
นอกจากนี้ นพ.เฮาส์ยังมีส่วนช่วยเหลือในการแปลและการร่างสนธิสัญญาระหว่างไทยและจักรวรรดิอังกฤษสมัยครั้งที่ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เป็นราชฑูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย
เก็บความและภาพจาก
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แหล่งที่มา: http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=8&chap=1&page=t8-1-infodetail06.html
สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ และเทวารักษ์ วีระวัฒกานนท์. นายแพทย์เฮาส์: แพทย์ผู้ให้ยาระงับความรู้สึกคนแรกในสยาม.ใน Thai Journal of Anesthesiology, Volume 37 Number 1 January - March 2011.
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Dan_Beach_Bradley
- 24026 views