โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพันดอน (รพ.สต.พันดอน) ตั้งอยู่ใน ต.พันดอน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ถือเป็น รพ.สต.ขนาดกลาง ดูแลประชากรกว่า 6,000 ราย ในพื้นที่คาบเกี่ยว 14 หมู่บ้านในเขตเทศบาลพันดอน และเทศบาลกงพานพันดอน
รพ.สต.แห่งนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพจนได้มาตรฐาน 5 ดาว 5 ดี มีความโดดเด่นทั้งแง่โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย สามารถจัดบริการอย่างมีคุณภาพจนการได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนอย่างสูง
จุดเริ่มต้นจาก 3ดี 3S
สุชิน ธรรมวงศา ผู้อำนวยการ รพ.สต.พันดอน เธอได้บอกเล่าพัฒนาการ รพ.สต.พันดอน กว่าจะเป็น รพ.สต.ติดดาว ว่า จุดเริ่มต้นต้องย้อนไปตั้งแต่ประมาณปี 2553 ซึ่งขณะนั้น สธ.มีนโยบาย 3ดี 3S ทาง รพ.สต.พันดอน ก็ได้นำนโยบายนี้มาปฏิบัติ โดยเริ่มจากการปรับปรุงโครงสร้างอาคารและสภาพแวดล้อม ภายใต้แนวคิดว่าผู้ที่มา รพ.สต.ก็เจ็บป่วยอยู่แล้ว จึงอยากให้มารับบริการแล้วมีบรรยากาศที่สบายตา เข้ามาแล้วรู้สึกดี จึงปรับปรุงตั้งแต่สนามหญ้า สร้างศาลาไว้สำหรับให้ญาติผู้ป่วยพักผ่อน มีมุมน้ำตก ประดับประดาต้นไม้ให้ร่มรื่น สร้างห้องน้ำที่สะอาดและได้มาตรฐาน HAS เช่นเดียวกับห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ก็ต้องเอื้อกับการทำงาน มีห้องต่างๆ ทั้งห้องคลินิก ห้องรับรอง ห้องพักเจ้าหน้าที่ที่อยู่เวร
ในส่วนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้วยความที่ รพ.สต.พันดอน มีจำนวนบุคลากรหลายวิชาชีพ ทั้งพยาบาล นักวิชาการ เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข ฯลฯ ก็จะส่งเสริมการพัฒนา ส่งไปอบรมเพื่อกลับมาจัดบริการเชิงรุกเชิงรับที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และทำงานเป็นทีมเดียวกัน
“งานเชิงรับ เราทำทั้งงาน ER งาน ANC งาน Well Baby Well child เรื่องผู้สูงอายุ และเรื่อง NCDs ส่วนงานเชิงรุก การส่งเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค เราเน้นการคัดกรองโรคของประชาชนในชุมชน เบาหวาน ความดัน ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง สรุปคือ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู คุ้มครองผู้บริโภค ก็ทำมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว พอมาเป็น รพ.สต.ติดดาว ก็ทำให้การพัฒนาง่ายขึ้น ช่วงปี 2559 เราพัฒนาระบบ IC งานชันสูตร งานเภสัชกรรม งานทันตกรรมมากขึ้น ทุกระบบเข้มข้นมากขึ้น และจัดบริการใหม่ๆ อย่างเช่นแพทย์แผนไทย ส่วนเรื่องวัสดุครุภัณฑ์ต่างๆ โรงพยาบาลแม่ข่าย และ สสอ.จะมาช่วยดูแลมีส่วนร่วมมากขึ้น เรียกได้ว่ามาทำด้วยกันเลย ขาดเหลืออะไรก็ช่วยกัน ก็ทำให้ รพ.สต.มีคุณภาพและระบบที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น” สุชิน กล่าว
คณะกรรมการพัฒนา รพ.สต. เวทีประสานความร่วมมือ
ในส่วนของการประสานงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ รพ.สต.พันดอนได้จัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนา รพ.สต.” ขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกประสานความร่วมมือในพื้นที่ โดยสุชินเล่าว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นในปี 2535-2536 ขณะนั้นมีคุณยายคนหนึ่งมาหา บอกว่าตามัว มองไม่เห็น ทำอย่างไรถึงจะหาย เมื่อพาไปตรวจก็พบว่าเป็นต้อกระจกต้องเปลี่ยนเลนส์แก้วตา หลังจากนั้นก็ได้รวบรวมผู้สูงอายุที่มีอาการต้อกระจกในชุมชนได้อีกประมาณ 20 กว่าคน แต่ตอนนั้นต้องจ่ายเงินเอง เพราะยังไม่มีโครงการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาฟรีเหมือนในปัจจุบัน
“เราก็มานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะช่วยผู้ป่วยได้หนอ ก็ไปหารับบริจาคกับคนที่รู้จักในตลาด เขาก็ประเดิมเลย 3 หมื่นบาท เราช่วยสมทบอีกส่วนด้วย แล้วก็พาก็นั่งรถสองแถวไปผ่าเปลี่ยนเลนส์แก้วตาที่โรงพยาบาล หลังผ่าแล้วมองเห็นชัดขึ้น คุณยายก็ดีใจมาก เราก็ภูมิใจที่ได้ช่วย แล้วก็มานั่งคิดว่า เออ เขาก็ช่วยดีเนอะเวลาเราบอกอะไรไป ถ้าเราเชิญเขามาร่วมรับรู้ปัญหาการจัดบริการของเรา เขาน่าจะช่วยเราได้ นี่ก็เป็นจุดเริ่มที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา” ผู้อำนวยการ รพ.สต.พันดอน กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนา รพ.สต. จะมีกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ทั้ง ตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ตัวแทนโรงพยาบาลแม่ข่าย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานกลุ่มผู้สูงอายุ ตัวแทนกลุ่มผู้ป่วย ตัวแทนครู มีการประชุม 1-2 ครั้ง/เดือน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าปัญหาสุขภาพในแต่ละช่วงมีอะไร จะช่วยกันวางแผน ช่วยกันดูแลได้อย่างไร
“ลำพังแค่ทีมของ รพ.สต.คงดูแลได้ไม่หมด เราสร้างทีมจัดบริการแล้ว ก็ต้องอาศัยภาคีเครือข่ายในการลงไปทำงานเชิงรุกว่าปัญหามีอะไร แล้วหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ส่วนเราก็อาศัยเวทีนี้ให้ภาคีเครือข่ายได้มารับรู้ ร่วมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และประเมินผลร่วมกัน เมื่อจัดทำแผนงานโครงการเสนอกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น กองทุนก็ได้รับรู้ปัญหาด้วย เวลามีอะไรก็จะได้รับความร่วมมือ คือเขาได้ร่วมคิดกับเรา ร่วมเสนอแนวทาง แล้วก็ต้องปฏิบัติไปกับเรา ไม่ใช่เราทำคนเดียว” ผู้อำนวยการ รพ.สต.พันดอน กล่าว
สุชิน กล่าวอีกว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็นการตั้งในพื้นที่กันเอง ไม่ได้มีโครงสร้างตามกฎหมาย แต่หากไม่มีคณะกรรมการลักษณะนี้ ก็ไม่รู้จะไปทำงานกับภาคีเครือข่ายแบบไหน ดังนั้นถ้าจะทำงานได้ ก็ต้องสร้างการรับรู้ร่วมกันทุกฝ่าย
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการชุดนี้ก็ไม่ได้มีไว้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเดียว ภาคีเครือข่ายจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการ เช่น บางครั้งงบประมาณจากส่วนกลางไม่เพียงพอ แต่ รพ.สต.อยากปรับปรุงห้องทำงานต่างๆ ให้น่าอยู่ บุคลากรมาทำงานแล้วมีความสุขเหมือนอยู่บ้าน ก็นำแนวคิดไปหารือกับคณะกรรมการ ซึ่งผลงานจากการทำงานที่ผ่านมา ก็เป็นเหตุผลที่ทางภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุนงบประมาณมากขึ้น
“เวลาเราไปจัดบริการอะไร เราก็มาแจ้งในที่ประชุม เขาก็จะรับรู้ว่าครอบครัว ญาติพี่น้องของเขาได้รับการดูแล ทุกฝ่ายที่มาเป็นกรรมการก็ได้รับรู้ไปกับเรา นี่คือเคล็ดลับการสร้างเครือข่าย เราต้องทำตัวให้เขาเห็น การทำให้เห็นดีกว่าการไปพูด และถ้าจะพูด ต้องพูดในสิ่งที่เขาเห็นว่าเราทำจริง เขาก็จะเกิดความมั่นใจ” สุชิน กล่าว
จัดบริการมีคุณภาพ ได้ใจประชาชน
นอกจากการประสานงานเครือข่ายจะดีเยี่ยมแล้ว รพ.สต.พันดอน ยังเป็น รพ.สต. ที่มียอดเงินบริจาคมากที่สุดในอำเภอ ซึ่งสุชินชี้ให้เห็นว่านี่คือสิ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของประชาชน ความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นได้นั้น ก็มาจากการจัดบริการที่มีคุณภาพนั่นเอง
“ระบบงานทุกงาน ทั้งการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (IC) งานเวชภัณฑ์ งานชันสูตรให้มีคุณภาพ การมีคุณภาพแบบนี้ ประชาชนจะรับรู้ได้เมื่อมารับบริการจากเรา หรือหากเป็นงานเชิงรุก ด้วยความที่ รพ.สต.เรามีเจ้าหน้าที่เยอะ ก็จะแบ่งให้ดูแลคนละ 1 หมู่บ้าน ทุกคนต้องรู้ว่าประชากรในหมู่บ้านที่รับผิดชอบเป็นใคร มีกี่คน กลุ่มไหนป่วย กลุ่มไหนเสี่ยง ทุกคนต้องวิเคราะห์ได้ นอกจากนี้ก็ต้องอาศัย อสม. อสค. (อาสาสมัครประจำครับเรือน) รวมทั้งมี Care Giver ที่ผ่านการอบรมเรื่องการดูแลผู้ป่วยโดยตรง มีทีมสหวิชาชีพจากโรงพยาบาลเข้ามาเสริมในการลงพื้นที่ดูแลคนไข้ที่มีปัญหาซับซ้อน ตรงนี้ก็ทำให้ประชาชนเข้าถึงและรับบริการสาธารณสุขที่ดี ญาติก็พึงพอใจ บางครั้งจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง มาที่ รพ.สต. เจ้าหน้าที่ก็ประสานบริการให้ ผู้ป่วยไม่ต้องดิ้นรนเดินทางไปโน่นมานี่เพื่อพบแพทย์”
สุชิน ยังยกตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต (Palliative care) ซึ่งที่นี่จะจัดให้มีพิธีขอขมา เมื่อเห็นว่าผู้ป่วยใกล้จะเสียชีวิตก็จะเรียกญาติพี่น้องมาทำพิธี เพื่อเปิดโอกาสให้ร่ำลากัน จัดให้ผู้ป่วยสวดมนต์ สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขทางใจ คนที่ไปก็ไปอย่างมีความสุข ได้เสียชีวิตในอ้อมอกของคนที่เป็นญาติโดยตรง ได้จากไปอย่างสงบ
“เมื่อเขาจากไป ญาติก็พอใจในการจัดบริการ เขาก็จะเชิญเราไปงานเผาศพ แล้วบริจาคเงินทำบุญให้เรา ซึ่งเราได้เยอะเหมือนกัน และที่ภูมิใจมากคือในปีนี้ได้รับเชิญไปเป็นประธานทอดผ้าบังสกุลอยู่ 2-3 ราย ก็ภูมิใจลึกๆ ว่าเขายังนึกถึงเรา ยังเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำนะ ตอนนี้ถ้าถูกเชิญไปรับเงินบริจาค บางครั้งก็ส่งตัวแทนไป แต่ถ้าเชิญไปเป็นประธานทอดผ้าบังสกุลจะพยายามไปด้วยตัวเอง (หัวเราะ)”
สุชิน กล่าวต่อไปว่า การจัดบริการต่างๆ เหล่านี้ ทำประชาชนในพื้นที่รับได้รู้ว่าสามารถพึ่งพา รพ.สต.ในหลายๆ อย่าง และช่วยบริจาคเงินให้อย่างต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดที่ไปจัดบริการ มีคหบดีในพื้นที่มาใช้บริการแล้วพึงพอใจ และช่วยบริจาคมา 1.5 แสนบาท เป็นการให้ด้วยใจ บอกว่าจะเอาไปทำอะไรก็ตามสะดวก หรือมีอยู่ครั้งหนึ่งไปจัดบริการ NCDs ก็มีคหบดีอีกรายมอบเงินค่าข้าวต้มให้เป็นประจำเดือนละ 4,000 บาท ซึ่งหากรวมๆ จำนวนเงินบริจาคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็น่าจะได้หลักล้านบาท ยังไม่รวมเงินบริจาคที่ได้จากงานศพ หรือกลุ่มที่มาบริจาคเงินหรือข้าวของเมื่อถึงวันเกิดตัวเอง
“คนที่มีเงินทำไมไม่ไปไกลๆ ทำไมยังมาที่เรา เราก็ภูมิใจว่าเขามาใช้บริการ ได้เราเป็นที่พึ่ง เขาก็เลยบริจาคเงินพัฒนาให้ อันนี้เป็นส่วนที่เราได้รับบริจาคจากพ่อค้าประชาชนที่นี่ หรือแม้แต่ประชาชนที่ไม่มีเงิน ก็ให้ความร่วมมือร่วมแรง เวลาจะทำโน่นทำนี่เขาก็มาช่วยมีส่วนร่วม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะทำบริการให้ดีได้ไม่ใช่เราทำคนเดียว ต้องอาศัยทีมงาน เจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน อสม.จิตอาสาทุกคนในชุมชน และส่วนหนึ่งที่เราพัฒนาศักยภาพมาถึงตรงนี้ได้ สามารถดูแลคนไข้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความรู้ความสามารถ ก็ต้องขอบคุณทางจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุขที่มีนโยบายพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ เวลาจังหวัดมีการจัดประชุมวิชาการ เราจะพยายามส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมทุกครั้ง
โรงพยาบาลอำเภอ สสอ. ก็เป็นอีกส่วน เมื่อเรามีความรู้ในการจัดบริการ ทั้ง สสอ. และโรงพยาบาลแม่ข่ายก็มามีส่วนร่วมขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน เราไม่ได้ทำคนเดียว เรามีทีมจังหวัดให้นโยบายมา มาสานต่อในระดับอำเภอ อำเภอก็มาช่วยเรา ก็ทำให้เราแข็งแรงขึ้น” สุชิน กล่าว
Core Value คือสิ่งที่ขาดไม่ได้
ผู้อำนวยการ รพ.สต.พันดอน ยังเน้นย้ำในอีกประเด็นหนึ่งว่า การจะบรรลุเกณฑ์ 5 ดาว 5 ดี ต้องเริ่มจากมีทีมงานที่มีคุณภาพและทำงานเป็นทีม แต่ก่อนจะเป็นทีมได้นั้น ต้องมีค่านิยมร่วมกัน ค่านิยมของกระทรวงคือ MOPH ส่วนของ รพ.สต.พันดอน จะเพิ่มเป็น UDMOPH U คือ Unity ความสามัคคีเป็นเอกภาพ และ D คือ Diversity หรือความหลากหลายของวิชาชีพ
“อันนี้เป็นค่านิยมที่ทำให้เราได้ 5 ดี 5 ดาว เริ่มตั้งแต่ core value เลย ถ้ากำหนดค่านิยมแล้วไม่ทำ ก็ไม่มีความหมายอะไร ดังนั้นต้องปฏิบัติกันด้วย ตัวอย่างเช่น การเป็นนายตนเอง เราคุยกันชัดว่าต้องมาทำงานตรงเวลา หรือความอ่อนน้อมถ่อมตน ก็ช่วยให้ประสานงานภาคีเครือข่ายได้ดี ทำให้ได้รับความศรัทธาและเงินบริจาค ถ้าเทียบในอำเภอเราได้รับเงินบริจาคสูงที่สุด หรือเรื่องการจัดบริการมีคุณภาพ ต้องชัดว่าคุณภาพแบบไหน ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร ใครรับผิดชอบจุดไหนๆ เราต้องวางให้ชัดเจน เป็นต้น” สุชิน กล่าวทิ้งท้าย
- 492 views