กระทรวงสาธารณสุข ลงนาม ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วย/หน่วยบริการ เป็นบริการโดยความสมัครใจ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย ภายหลังเข้ารับการตรวจรักษา สามารถรอรับยาได้ที่บ้านตนเอง ลดแออัด ลดรอคิว นำร่อง โรงพยาบาลในสังกัด 19 แห่ง

วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาศักยภาพการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วย/หน่วยบริการ” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดพัฒนาระบบบริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ เข้าถึงบริการได้สะดวก ลดเวลารอรับบริการในโรงพยาบาล ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ ในปี 2558 ผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนสูงถึง 187,632,580 ครั้ง แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงความแออัด มีระยะเวลาการรอคอยในการรับยา การชำระค่าบริการ ปัญหาของการจราจรติดขัดหรือไม่มีที่จอดรถ เป็นต้น

จึงได้พัฒนาระบบคุณภาพในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ ให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้รวดเร็วขึ้น ได้รับบริการที่สะดวกขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับยา ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระการสำรองยาคงคลังของโรงพยาบาล และลดปริมาณการจ่ายยาให้ผู้ป่วยครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเสื่อมคุณภาพของยาได้ ด้วยบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาในโรงพยาบาลไปยังบ้านของผู้ป่วย

กระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นว่า “บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพ ที่จะช่วยให้ยาไปถึงมือผู้ป่วยโดยเร็ว มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ด้วยบริการจัดส่งที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ GSP (Good Storage Practice) และ GDP (Good Distribution Practice) จึงได้มีการลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วยฯ เป็นทางเลือกใหม่ และเป็นบริการโดยความสมัครใจของผู้ป่วยหรือญาติ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยภายหลังเข้ารับการตรวจรักษา สามารถรอรับยาได้ที่บ้านตนเอง รวมทั้งมีบริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาโรงพยาบาลไปยังหน่วยบริการอื่นๆ เช่น รพ.สต.

ในการพัฒนาดังกล่าวได้ตั้งเป้าหมายดังนี้

1.ลดปริมาณผู้ป่วยนอกที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล

2.ลดปริมาณยาและเวชภัณฑ์คงคลังของโรงพยาบาล

3.ลดการสูญเสียยาและเวชภัณฑ์จากการที่ผู้ป่วยไม่รับประทานหรือทิ้ง

4.ลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมของผู้ป่วยทุกสิทธิ์

5.ลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมของโรงพยาบาลในการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์

และ 6.เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ในภาพรวม

โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการในโรงพยาบาล 19 แห่ง คือ รพ.บุรีรัมย์, รพ.สงขลา, รพ.สุรินทร์, รพ.สุราษฎร์ธานี, รพ.ศรีสะเกษ, รพ.กาฬสินธุ์, รพ.แพร่, รพ.นครพิงค์, รพ.สรรพสิทธิประสงค์, รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช, รพ.ขอนแก่น, รพ.ร้อยเอ็ด, รพ.ลำปาง, รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์, รพ.พุทธชินราช, รพ.หาดใหญ่, รพ.อุดรธานี, รพ.มหาสารคราม และรพ.อุตรดิตถ์ ก่อนจะขยายไปยังโรงพยาบาลที่เหลือต่อไป