บอร์ด สปสช.เห็นชอบทำหนังสือถึง มท.ของบกลางเพิ่ม แก้ปัญหาวิกฤตกองทุนรักษาพยาบาล อปท. ชี้ปี 60 ตัวเลขติดลบกว่า 2 พันล้านบาท มีพอจ่ายถึง เม.ย.นี้ พร้อมปรับปรุงข้อตกลงต้องไม่ให้ สปสช.สำรองจ่าย หวั่นกระทบกองทุนบัตรทอง ด้าน “หมอปิยะสกล” เตรียมหารือ รมว.มท.แก้ปัญหา ระบุหาก สปสช.ไม่มีเงินจ่ายหน่วยบริการ ภาระหนักตกที่ สธ.
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณา “งบประมาณค่ารักษาพยาบาลสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปีงบประมาณ2559-2560 ที่ไม่เพียงพอ”
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ได้รับมอบหมายให้บริหารกองทุนรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้าง อปท. ตามมาตรา 9 (2) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และมีพระราชกฤษฎีกาให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา โดยมีพนักงานหรือลูกจ้าง อปท.และผู้อาศัยสิทธิจำนวน 613,650 คน จาก อปท. 7,851 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นผู้มีสิทธิเบิกจ่ายตรง 550,008 คน
ทั้งนี้จากสถานการณ์การรับบริการสิทธิ อปท.พบว่าเริ่มมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 มีการรับบริการ 2,105,600 ครั้งต่อปี เฉลี่ยค่าใช้จ่าย 5,913 บาทต่อผู้มีสิทธิ รวมเป็นเงินงบประมาณ 3,421 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2559 มีการรับบริการเพิ่มเป็น 2,806,930 ครั้งต่อปี เฉลี่ยค่าใช้จ่าย 9,096 บาทต่อประชากร รวมเป็นเงินงบประมาณ 5,596 ล้านบาท ซึ่งเกินจากงบประมาณที่ตั้งไว้
นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ที่ผ่านมา สปสช.ได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ดำเนินการเสนอขอใช้งบกลางสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่ไม่เพียงพอในปี 2559 เพื่อให้สามารถจ่ายชดเชยค่าบริการกับสถานพยาบาลได้อย่างต่อเนื่องและไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยและสถานพยาบาล ซึ่งต่อมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจ้งว่าทางสำนักงบประมาณให้ สปสช.ทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปพลางก่อน และให้กรมส่งเสริมฯ ดำเนินการของบประมาณชดเชยในปีถัดไป เนื่องจากงบกลางมีจำกัดและมีภารกิจอื่นที่ต้องดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน
ทั้งนี้ในปี 2560 สปสช.ได้รับงบประมาณเพื่อบริหารกองทุนรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้าง อปท.จำนวน 4,500 ล้านบาท เมื่อหักจ่ายชดเชยงบประมาณที่ติดลบในปี 2559 จำนวน 1,097 ล้านบาท ส่งผลให้ในปี 2560 นี้ มีงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายเพียง 3,403 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอจ่ายชดเชยได้ถึงเดือนเมษายนนี้ ขณะที่ตัวเลขประมาณการเบิกจ่ายกองทุนฯ ในปี 2560 อยู่ที่จำนวน 6,054 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนฯ จะติดลบจำนวน 2,648 ล้านบาท
นพ.ประจักษวิช กล่าวต่อว่า สปสช.ได้ประมาณการเข้ารับบริการของผู้มีสิทธิกองทุนรักษาพยาบาล อปท. รวมถึงงบประมาณที่ต้องใช้ดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2560-2565 โดยคาดว่าในปี 2565 จะมีผู้รับบริการเพิ่มถึง 3,798,444 ครั้ง ส่วนงบประมาณค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่จำนวน 7,268 ล้านบาท
“จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ่น จึงรายงานให้บอร์ด สปสช.รับทราบ และในปี 2560 หากยังคงเป็นแบบนี้ จะส่งผลให้หลังเดือนเมษายนหน่วยบริการจะไม่มีเงินเบิกจ่ายชดเชย และกองทุนจะติดหนี้กับหน่วยบริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการภายใต้สิทธิ อปท.ได้ จึงได้เสนอให้กระทรวงมหาดไทยของบประมาณเพิ่มเติมจากงบกลางเพื่อใช้ในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกองทุน อปท.ในปี 2560 ให้เพียงพอ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กองทุนรักษาพยาบาล อปท.ใช้เบิกจ่ายเป็นรูปแบบเดียวกับกรมบัญชีกลาง โดย สปสช.รับมาดำเนินการ แต่หากงบประมาณไม่เพียงพอและ สปสช.ต้องสำรองจ่ายให้ด้วยคงไปไม่ไหว และเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ สปสช.จะต้องไปหาเงินมาจ่ายให้แต่เป็นหน้าที่ อปท.ต้องไปดำเนินการโดยผ่านกระทรวงมหาดไทย และเรื่องนี้หาก สปสช.ไม่มีเงินมาจ่ายหน่วยบริการที่หนักที่สุดคงไม่พ้นกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามตนจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อทำให้เกิดความชัดเจน โดยกรมส่งเสริมฯ ต้องนำเสนอปัญหานี้ต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยด้วย
นางชุมศรี พจนปรีชา ผู้ทรงคุณวุฒิ บอร์ด สปสช. กล่าวว่า กองทุนรักษาพยาบาล อปท. สปสช.เพียงแต่รับบริการธุรกรรมให้ แต่ภาระค่าใช้จ่ายต้องไม่ใช่ให้ สปสช.นำงบประมาณไปจ่ายให้ด้วย เพราะลำพังเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะดูแลผู้มีสิทธิก็ลำบากแล้ว และเมื่อดูตัวเลขจะเห็นว่า ปี 2559 งบประมาณขาดแคลนเพียง 3 เดือนยังพอรับไหว แต่ปี 2560 งบจะขาดแคลนถึง 5 เดือน และอนาคตปัญหางบประมาณขาดแคลนยังจะมากขึ้น ดังนั้นหากกรมส่งเสริมฯ ยังไม่รับทราบ ภาระนี้จะส่งผลกระทบกับ สปสช.ที่ต้องเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยและ สปสช.ที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ จึงมองว่าน่าจะมีการปรับข้อตกลงกันใหม่เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อ สปสช.ในอนาคต
- 7 views