เรียก ‘สติ’ สร้าง ‘สมาธิ’ ในการทำงานผ่านกระบวนการ MIO ส่งผลเลิศต่อ ‘ผลผลิต-การบริการ-ความสัมพันธ์’ วงถกพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพระดับชาติ ถอดบทเรียนชัด แนวคิดใช้ได้กับองค์กรทุกประเภททั้งโรงงาน โรงพยาบาล โรงเรียน

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 มีการจัดการประชุม “National Forum on Human Resources for Health 2017 : การระดับชาติ การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ (HR4H Forum 2017)” ภายใต้แนวคิดคุณค่าคน คุณค่างาน บันดาลสุข ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยห้อง Sapphire 204 ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประสบการณ์สร้างสุขด้วยสติในองค์กรภาคเอกชน และภาครัฐอื่นๆ”

นางวิภาภรณ์ เกียรติอำนวย กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ เอช อุตสาหกรรม จำกัด จ.นครราชสีมา ซึ่งประกอบการอุตสาหกรรมผลิตกระสอบ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ผู้บริหารมักจะมองว่าแค่ฝึกทักษะพนักงานให้ทำงานกับเครื่องจักรได้ ก็น่าจะทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนตัวมองอีกมุมคือเชื่อว่าหากพนักงานทำงานซ้ำๆ ทุกวัน ในวันหนึ่งก็จะรู้สึกเบื่องาน จึงได้เข้าร่วมโครงการ Mindfulness In Organization (MIO) ซึ่งเป็นการนำแนวคิดเรื่องสติเข้ามาในองค์กร

นางวิภาภรณ์ กล่าวว่า แนวคิดของบริษัทก็คือมองว่า หากพนักงานมีสติโดยใช้สมาธิเป็นฐานแล้วน่าจะมีประโยชน์ต่อการทำงานมากขึ้น ซึ่งเมื่อได้ดำเนินโครงการแล้วชัดเจนว่าได้ทำให้พนักงานเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และมีความพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง โดยผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการคือพนักงานมีทัศนคติเชิงบวกไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์หรืออุปสรรคใดๆ ขึ้น มากไปกว่านั้นก็คือพนักงานตระหนักรู้ว่าตัวเองต้องมีวินัยมากขึ้น จากนั้นก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่ดีของตัวเอง เช่น ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นางวิภาภรณ์ กล่าวอีกว่า ผลจากการมีสติทำให้อุบัติเหตุในการทำงานลดลง มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น มาตรฐานของงานสูงขึ้น ลดข้อร้องเรียน และที่สำคัญที่สุดคือสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า จนกระทั่งยอดขายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เมื่อพนักงานมีสติก็จะพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่นปัจจุบันมีการยุบบางแผนกแล้วไปใช้เครื่องจักรแทน พนักงานก็พร้อมจะไปทำงานในฝ่ายอื่นๆ โดยไม่รู้สึกย่ำแย่

“กระสอบของบริษัทเจเอส ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งของที่เกิดจากการสานพลาสติกเท่านั้น แต่เกิดจากการใส่ใจของพนักงานในทุกขั้นตอน เมื่อคนของเรามีสติ เขาจะได้ความสุขจากภายใน และระเบิดออกจากภายใน ซึ่งลูกค้าจะรับรู้จากสิ่งนี้”

นางวิภาภรณ์ กล่าวอีกว่า ตัวอย่างเช่นกิจกรรมนั่งสมาธิ เรายอมให้เขาใช้เวลาในการทำงาน เช่นก่อนเริ่มงาน เพื่อให้ทำงานอย่างมีสติ หรือหลังทำงานเพื่อให้เขาเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย เราสื่อสารกับเขาว่าเรารักเขา โดยชั่วโมงการทำสมาธิของพนักงาน เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 24 วัน ใน 1 ปี ซึ่งในทางธุรกิจนั่นคือต้นทุน แต่เรายอมจ่าย เพราะผลลัพธ์จากการมีสติได้มากกว่านั้น

นายสุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล จ.สตูล กล่าวว่า โรงเรียนเป็นสถานที่สร้างคน ฉะนั้นโจทย์คือจะทำอย่างไรที่จะสร้างโรงเรียนที่สอนคนมากกว่าสอนหนังสือ โดยที่ผ่านมาเรามุ่งเป้าไปสู่ความสำเร็จจนละเลยความสุขที่เกิดขึ้นกับคนทำงาน ส่วนตัวเชื่อว่าคุณภาพของคนและความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้น หากคนทำงานด้วยความทุกข์

“อาจารย์พุทธทาสกล่าวไว้ว่าสุขที่แท้มีแต่ในงาน ฉะนั้นหัวใจของเรื่องนี้คือทำอย่างไรให้คนทำงานแล้วมีความสุข โดยเรื่องนี้ถ้าเราเริ่มที่สถานศึกษาได้แนวคิดก็จะขยายกว้าง เนื่องจากนักเรียนมีผู้ปกครองและมีครอบครัว ตรงนี้จะกลายมาเป็นฐานของการขยายแนวคิดออกไป”

นายสุทธิ กล่าวว่า สติและสมาธิก็เปรียบเหมือนเบรกรถยนต์ ถ้ารถยนต์ไม่มีเบรกก็คงอันตรายมาก เราจึงเริ่มต้นติดตั้งเบรกให้กับคุณครูในโรงเรียนก่อนด้วยการอบรม เมื่อคุณครูตระหนักรู้ต่อความเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการประชุมก็จะเป็นการประชุมด้วยสติสนทนา การประชุมนั้นก็จะมีคุณค่า ฉะนั้น MIO จึงสอดแทรกอยู่ในทุกกิจกรรมของโรงเรียน จากนั้นคุณครูก็ขยายผลไปสู่นักเรียนทุกระดับชั้น มีการทำสมาธิ อบรมจริยธรรม และจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ที่สุดแล้วชัดเจนว่าอุบัติเหตุในโรงเรียน ผลการเรียน คุณภาพในการสอบดีขึ้น

นางพจนีย์ บุญประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารพนักงานสัมพันธ์ ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ได้นำแนวคิด MIO มาใช้กับพนักงานกว่า 4,000 คน ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจของผู้บริหารที่ระบุว่าคุณค่าหลักของบำรุงราษฎร์คือความเอื้ออาทร

“เราเชื่อว่าเดิมทุกคนที่เข้ามาทำงานมีความเอื้ออาทรเป็นทุนอยู่แล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปความเอื้ออาทรเหล่านั้นอาจจะลดหายไปบ้าง เราจึงนำแนวคิด MIO เข้ามาใช้ให้พนักงานทุกคนมีสติ มีการพัฒนาจิตใจเพื่อให้การบริการออกมาจากใจมากกว่าเพียงการอบรมอย่างเดียว”

นางพจนีย์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญของบำรุงราษฎร์คือความปลอดภัยของผู้ป่วยนั่นก็คือสติของผู้ทำงาน เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้มหาศาลเพียงใดก็ตาม เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ถ้าไม่มีสติเราก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้

“เมื่อนำแนวคิด MIO มาใช้ ชัดเจนว่าเราได้รับคำชมเพิ่มขึ้น ระดับความปลอดภัยมากขึ้น อุบัติเหตุลดลง ผู้ป่วยมีระดับความพึงพอใจสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสื่อสารกันอย่างมีสติแล้วการทำงานเป็นทีมทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานก็ดีขึ้น” นางพจนีย์ กล่าว

อนึ่ง แนวคิด Mindfulness In Organization เป็นโครงการที่จะสร้างองค์กรต้นแบบขึ้นในสังคม โดยการนำสติ สมาธิ หรือการพัฒนาจิตมาออกแบบและสร้างระบบการทำงานให้เกิดเป็นวิถีปฏิบัติเป็นค่านิยมร่วมหรือวัฒนธรรมในองค์กร

สำหรับระดับของสติอยู่ 3 ความหมาย ระดับแรกคือ สติในฐานะการฝึกปฏิบัติ (Mindfulness as PRACTICES) ระดับถัดมาคือ สติในฐานะที่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติหรือเป็นสภาวะจิต (Mindfulness as STATE) และระดับสุดท้าย สติที่เป็นบุคลิกภาพหรือการที่ได้พัฒนาสติจนกลายเป็นคุณลักษณะทางจิตใจประจำตน (Mindfulness as TRAIT) ซึ่งสติทั้ง 3 ความหมายนี้จำเป็นต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อใดที่คนฝึกสติถึงขั้น TRAIT แล้ว จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกทั้งที่วุ่นวายและไม่วุ่นวายได้อย่างสงบ เกิดสภาวะจิตใหม่ที่มีคุณภาพขึ้น