กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนด 5 มาตรการดำเนินงานควบคุมป้องกันวัณโรคดื้อยาเพื่อแก้ไขปัญหาวัณโรคดื้อยาในประเทศไทย หลังคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยสูงถึง 4,500 ราย เน้นคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงและรีบพาเข้ารับการรักษา รวมถึงพัฒนาระบบและเครือข่ายการป้องกันดูแลรักษา แนะผู้ป่วยวัณโรคแม้ว่าอาการจะดีขึ้น ก็ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำ ห้ามหยุดยาหรือลดยาเอง จะทำให้เชื้อดื้อยาและรักษายากขึ้น
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานเหตุการณ์ครอบครัวหนึ่งที่ป่วยเป็นวัณโรคดื้อยาและสิ้นหวังฆ่าตัวตายทั้งบ้านในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความสำคัญของวัณโรคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งผลกระทบทั้งร่างกาย ครอบครัว และสังคม ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการแบ่งปันข้อมูลทางระบาดวิทยารวมทั้งแนวทางในการส่งต่อผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาระดับนานาชาติ โดยในปี 2558 พบผู้ป่วยวัณโรค 10 ล้านราย และเสียชีวิตประมาณ 1.8 ล้านราย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 สาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาโรควัณโรคสูง วัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคดื้อยาหลายขนาน โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภท 117,000 รายต่อปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานประมาณ 4,500 ราย ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ของผู้ป่วยวัณโรคจะอยู่ที่ประมาณ 2,500–5,000 บาทต่อราย แต่หากมีการดื้อยาค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นหลายเท่า ประมาณ120,000–200,000 บาทต่อราย
สำหรับวัณโรคที่กำลังเป็นปัญหามากในขณะนี้คือ วัณโรคดื้อยาหลายขนาน ซึ่งกลุ่มประชากรที่มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคดื้อยาสูงคือ กลุ่มผู้ป่วยที่เคลื่อนย้ายที่อยู่บ่อย จึงทำให้ขาดการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยได้รับยาไม่ครบหรือไม่ได้รับการรักษาจนหายขาด ประกอบกับผู้ป่วยวัณโรคส่วนมากจะมีฐานะทางครอบครัวที่ยากจน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองด้อยโอกาส ถูกกีดกันรังเกียจจากบุคคลทั่วไป จึงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาและดูแลจนหาย
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี พ.ศ. 2560 - 2564 โดยมุ่งเป้าหมายเพื่อลดการป่วย การตาย การขาดยา และป้องกันการดื้อยา ภายในปี 2564 ซึ่งเน้นหนัก 3 เรื่อง คือ ค้นให้พบ จบด้วยหาย พัฒนาระบบและเครือข่ายการป้องกันดูแลรักษา โดยดำเนินงานควบคุมวัณโรคมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการในการดำเนินงานควบคุมป้องกันวัณโรคดื้อยา 5 มาตรการ ดังนี้
1.คัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาและรีบรักษา เน้นกลุ่มประชากรที่เสี่ยงที่จะป่วยเป็นวัณโรคดื้อยา เช่น ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีผู้ป่วยวัณโรคที่กลับเป็นซ้ำ ผู้ป่วยวัณโรคที่ขาดยารักษาไม่ต่อเนื่อง และผู้ป่วยวัณโรคที่กำลังรักษาแล้วผลการรักษาไม่ดีขึ้น
2.พัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการชันสูตรวัณโรค เพื่อให้มีศักยภาพในการวินิจฉัยวัณโรคและวัณโรคดื้อยา มีการนำเทคโนโลยี การวินิจฉัยเร็วโดยวิธีทางอณูชีวโมเลกุลมาวินิจฉัยวัณโรคและการดื้อยา ซึ่งสามารถตอบผลได้ภายใน 2 ชั่วโมง
3.สนับสนุนจัดหาเวชภัณฑ์รักษาวัณโรคดื้อยาเพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายเข้าถึงบริการ
4.พัฒนาสูตรยารักษาวัณโรคดื้อยาให้มีระยะเวลาในการรักษาสั้นลง
5.กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งจัดให้มีเงินสงเคราะห์ผู้ป่วยวัณโรค เพื่อช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการเจ็บป่วย โดยอาการของวัณโรคจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
สำหรับผู้ป่วยวัณโรค แม้ว่าอาการจะดีขึ้นจนใกล้เคียงปกติแล้ว ก็ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำ ห้ามหยุดยาหรือลดยาเองโดยเด็ดขาด ซึ่งผู้ป่วยบางรายหยุดยาเองเพราะเข้าใจว่าหายแล้ว แต่ที่จริงยังคงมีเชื้อวัณโรคหลงเหลืออยู่ในร่างกายและสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ นอกจากนี้ ถ้าไม่รับประทานยาต่อเนื่อง เชื้อโรคที่เหลืออยู่สามารถปรับตัวให้ทนต่อยาเดิมจนเกิดภาวะเชื้อดื้อยา ถ้าผู้ป่วยกลับมามีอาการอีกครั้ง จะทำให้เชื้อตอบสนองต่อยาเดิมลดลง และหายารักษาได้ยากขึ้น และยังต้องเสียเวลารักษานานกว่าเดิมอีกด้วย
ประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค โทร 0-2212-2279 กด 4 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 42 views