กรมควบคุมโรค วัคซีนไข้เลือดออกยังไม่บรรจุในวัคซีนพื้นฐานที่รัฐให้บริการประชาชน สธ.ยังต้องพิจารณาใช้วัคซีนในวงกว้าง ประชาชนที่ต้องการรับวัคซีนนี้ต้องจ่ายเอง จนกว่าจะบรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐาน พร้อมระบุ 4 กลุ่มเสี่ยงห้ามใช้ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับยาเคมีบำบัด หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ส่วนประชาชนทั่วไป ควรให้แพทย์สั่ง
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่สถานพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทยเริ่มมีการให้บริการวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกแก่ประชาชนนั้น จากการศึกษาพบว่าวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสมีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ ประกอบด้วยเชื้อไวรัส 4 สายพันธุ์ สามารถป้องกันการเกิดไข้เลือดออกได้ร้อยละ 65 อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ประวัติการติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนหน้าที่จะได้รับวัคซีน และอายุของผู้ได้รับวัคซีน
ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย เมื่อ 30 กันยายน 2559 โดยผ่านการพิจารณาและการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย
โดยทั่วไปอาการข้างเคียงจากการรับวัคซีนมีค่อนข้างน้อย อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นไข้ ซึ่งอาการเหล่านี้หายได้ภายใน 3 วัน ผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่ากลุ่มเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) ที่ได้รับวัคซีน เมื่อติดเชื้อไข้เลือดออกแล้วมีความเสี่ยงที่จะป่วยและมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนประมาณ 7.5 เท่า และเนื่องจากวัคซีนนี้ทำจากเชื้อไวรัสมีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ ดังนั้นกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับยาเคมีบำบัด หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ห้ามให้วัคซีนนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องการรับวัคซีน ควรขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ และควรมีใบสั่งแพทย์ทุกครั้ง
นพ.เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันวัคซีนนี้ยังไม่ได้บรรจุในรายการวัคซีนพื้นฐานที่ภาครัฐให้บริการแก่ประชาชน เนื่องจากยังมีข้อจำกัดบางประการในการป้องกันไข้เลือดออก รวมทั้งขณะนี้ยังขาดข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เช่น ความชุกของการติดเชื้อ (seroprevalence) เป็นต้น ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณาในการใช้วัคซีนในวงกว้างต่อไป ดังนั้น ประชาชนที่ต้องการรับวัคซีนนี้ จึงยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง จนกว่าจะนำมาให้บริการเป็นวัคซีนพื้นฐานในอนาคต
แม้ว่าขณะนี้ ประเทศไทยเริ่มมีการให้บริการวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในสถานพยาบาลหลายแห่ง แต่ประชาชนยังต้องดูแลและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเริ่มจากบ้านของตนเอง ชุมชน และสถานที่สาธารณะต่างๆ และเน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ
1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง
2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดเช่น ทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่ถือเป็นช่วงสำคัญและเป็นโอกาสทองในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูการระบาด
หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 3 views