กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สรุปผลน้ำท่วมภาคใต้ รพ.บางสะพาน รพ.หลังสวน รพ.ชะอวด เครื่องมือแพทย์เสียหาย รวม 70 รายการ ในจำนวนนี้ 37 รายการวงจรไฟฟ้าเสียหายต้องจัดซื้อทดแทนรวมมูลค่า 25 ล้านบาทเศษ พร้อมทั้งเร่งออกแบบ วางผังเครื่องมือแพทย์ ระบบสนับสนุนต่างๆ ป้องกันน้ำท่วมถาวร รพ.บางสะพานและ รพ.หลังสวน รองรับบริการในอนาคตอีก 20 ปี คาดใช้เวลา 1-3 เดือน
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหาเฉพาะกิจน้ำท่วมสถานพยาบาลและการสนับสนุนภาคประชาชนของ สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้คลี่คลายดีขึ้นเรื่อยๆ เข้าสู่ระยะการฟื้นฟูและการวางมาตรป้องกันระยะยาว สบส.ได้แบ่งการทำงาน 3 ส่วน
ส่วนแรกคือการส่งทีมวิศวกรเครื่องมือแพทย์และวิศวกรโยธา ออกสำรวจประเมินความเสียหายและฟื้นฟูเครื่องมือแพทย์อาคารสถานพยาบาลทุกระดับที่ถูกน้ำท่วมให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนที่ 2 คือการสนับสนุนระบบสุขภาพประชาชนในด้านวิชาการและเครื่องมือทำงาน ซึ่งมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.เป็นกำลังหลักในการดูแลสุขภาพและฟื้นฟูชุมชนให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในพื้นที่ มีความคืบหน้าแล้วร้อยละ 80 ของพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว
และส่วนที่ 3 คือการสำรวจและให้ความช่วยเหลือ อสม.ที่ประสบภัยทั้งสูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียญาติ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจต่อไป
ในส่วนของการสำรวจด้านเครื่องมือแพทย์ ขณะนี้สำเร็จแล้ว 3 แห่ง เสียหาย 70 รายการ ประกอบด้วย
1.โรงพยาบาล (รพ) ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช 1 รายการคือลิฟต์เสียหายมูลค่า 3.8 แสนบาท
2.รพ.หลังสวน จ.ชุมพร 8 รายการ ต้องซื้อทดแทน เนื่องจากน้ำท่วมเข้าวงจรไฟฟ้า ไม่สามารถซ่อมแซมกลับมาใช้งานได้ 6 รายการ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องเติมอากาศระบบบำบัดน้ำเสีย รวม 7.9 ล้านบาท
และ 3.รพ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 61 รายการ ต้องซื้อทดแทน 31 รายการ มูลค่า 17 ล้านบาทเศษ เช่น กล้องส่องกระเพาะอาหาร เครื่องจี้ไฟฟ้า เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องดึงหลัง เป็นต้น รวมส่วนที่ต้องจัดซื้อทดแทน 25 ล้านบาทเศษ
นพ.ประภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการประเมินด้านอาคารสถานพยาบาล ทุกแห่งมีความมั่นคง แต่ในส่วนของโรงพยาบาล 2 แห่งที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก คือที่ รพ.บางสะพาน และ รพ.หลังสวน เป็นอาคารรุ่นเก่า ขนาดชั้นเดียว ใช้งานมานานกว่า 30 ปี จะต้องเร่งออกแบบอาคาร วางผังระบบเครื่องมือแพทย์ ระบบสนับสนุนอื่นๆ เป็นการเฉพาะแต่ละแห่งในระยะยาว ให้สามารถบริการในช่วงที่มีน้ำท่วมสถานที่ได้ หรือน้ำไม่ท่วมอย่างถาวร การออกแบบครั้งนี้เพื่อรองรับการพัฒนาระบบริการสาธารณสุขในอนาคตอีก 20 ปีด้วย โดย สบส.จะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง คาดจะใช้เวลาออกแบบ 1-3 เดือน
ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ถูกน้ำท่วม ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ สบส.จะเร่งรวบรวมความเสียหายทั้ง 2 ส่วนนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ และเสนอสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการต่อไป
- 14 views