นพ.สสจ.กาฬสินธุ์ เผยหมอจบใหม่แห่ลาออกเพียบ เลือกจ่ายเงินแทนทำงานใช้ทุนในพื้นที่ห่างไกล ปัจจุบันมีกำลังคนเพียงครึ่งเดียว หมอ 1 คนดูแลประชากรมากกว่าเกณฑ์ 3 เท่า

นพ.พีระ อารีรัตน์

นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ (นพ.สสจ.กาฬสินธุ์) เปิดเผยถึงปัญหาขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลประจำอำเภอ 4 แห่งที่เปิดใหม่ซึ่งมีแพทย์เพียงโรงพยาบาลละ 1 คนว่า จ.กาฬสินธุ์ มีปัญหาแพทย์ลาออกจำนวนมาก โดยตามกรอบโครงสร้างอัตรากำลังคนที่มีคือ 324 คน แต่ปัจจุบันมีเพียงครึ่งเดียวคือ 167 คน หรือถ้าเทียบกับภาระงาน ในระดับประเทศ แพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 2,300 คน แต่ใน จ.กาฬสินธุ์ แพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชากร 6,000 คน หรือมากกว่าเกณฑ์ของประเทศ 3 เท่า

“ทางส่วนกลางก็รับทราบปัญหาและช่วยอย่างเต็มที่ พยายามจัดสรรกำลังคนมาให้เรา แต่ให้มาแล้วแพทย์ก็ลาออกกันเยอะ อย่างปีก่อนจัดสรรแพทย์จบใหม่มาให้ 30 กว่าราย ซึ่งตามระบบแล้วเราจะให้ทำงานในโรงพยาบาลจังหวัดก่อน 1 ปีเพื่อเพิ่มพูนทักษะก่อนจะส่งลงไปประจำโรงพยาบาลอำเภอ ตอนแรกวางแผนว่าทุกโรงพยาบาลที่เปิดใหม่จะมีหมอ 2 คน คุยกันดิบดี ปรากฏว่าทำงานไป 1 ปี พอจะจัดสรรไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอในปีที่ 2 ก็ลาออกกว่า 20 คน ที่เหลือก็ลาไปเรียนต่อ สุดท้ายเหลือจัดสรรไปอยู่โรงพยาบาลอำเภอเพียง 6 คน ตอนนี้เลยต้องพยายามเอาโรงพยาบาลที่มีแพทย์ 1 คนให้อยู่ได้ก่อน” นพ.พีระ กล่าว

นพ.พีระ กล่าวว่า สาเหตุที่แพทย์ลาออกจำนวนมากนั้น เนื่องจากส่วนใหญ่เคยอยู่ในพื้นที่ปริมณฑลหรือพื้นที่ที่มีความเจริญมาก่อน พอให้ย้ายมาอยู่จังหวัดไกลๆ ก็ลาออก เพราะใช้จ่ายเงินชดใช้ทุนไม่กี่บาท ถ้าจบมาแล้วไม่ทำงานใช้ทุนก็ต้องจ่าย 4 แสนบาท แต่หากทำงานไป 1 ปี ก็จะเหลือเงินที่ต้องจ่ายประมาณ 2.6 แสนบาท ซึ่งหากลาออกไปอยู่ภาคเอกชน ได้ประมาณเดือนละ 1 แสนบาท ทำอยู่ 2-3 เดือนก็ใช้ทุนได้แล้ว ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องที่แก้ยาก จัดสรรคนมาเท่าไหร่ก็ไม่พอเพราะไหลออกไปหมด

“เด็กที่มาจากพื้นที่ปริมณฑล มีโรงงาน มีคลินิก ฯลฯ รายได้เขาก็ดีกว่า เวลาให้มาอยู่ทางนี้มันก็ไกล รายได้ก็น้อยกว่า ก็ยอมชดใช้เงิน แต่ไม่ยอมมาอยู่ นอกจากนี้ เรื่องอัตราค่าตอบแทน P4P ถ้าเทียบกับเอกชนหรือไปอยู่ในที่ที่เจริญกว่าก็ต่างกันเยอะเหมือนกัน หรือบางที่อาจได้เพิ่มนิดหน่อย แต่ภาระงานน้อยกว่า มีเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่า โอกาสที่จะถูกฟ้องร้องน้อยกว่า” นพ.พีระ กล่าว

สำหรับการแก้ไขปัญหานั้น นพ.พีระ กล่าวว่า กำลังคนที่ได้รับจัดสรรต้องเป็นคนในพื้นที่ถึงจะอยู่ได้ในระยะยาว เช่น แพทย์จากโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท (CPIRD) หรือจากโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (โอดอส) แต่ที่ผ่านมาพบว่าเด็กใน จ.กาฬสินธุ์ยังสอบได้น้อย เช่น ได้โควตา 6 คน สอบผ่าน 2 คน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในระยะสั้นได้รับการจัดสรรแพทย์จบใหม่จากส่วนกลางมาอีก 3 ราย รวมทั้งขอแพทย์จากโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทและโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน จาก จ.ร้อยเอ็ดมาช่วยอีก 3 คน นอกจากนี้ยังใช้วิธีหมุนเวียนแพทย์จากโรงพยาบาลจังหวัดลงไปช่วยตรวจที่โรงพยาบาลอำเภอ และใช้ระบบการส่งต่อโรคยากๆ มาที่โรงพยาบาลจังหวัด ตลอดจนเน้นการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รพ.ดอนจาน กาฬสินธุ์ ขาดหมอขั้นวิกฤติ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา

ผอ.รพ.ดอนจาน ย้ำไม่คิดทิ้งคนไข้แม้ทั้ง รพ.มีหมออยู่คนเดียว

หมอรุ่นใหม่ ทำไมลาออก 'เงินไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่อึดอัดกับระบบ'

อีก 20 กว่าอำเภอยังขาดแคลนแพทย์ขั้นวิกฤติ สธ.ต้องโยกหมอ ODOD ข้ามจังหวัดไปช่วย