ผอ.รพ.ดอนจาน ย้ำไม่คิดทิ้งคนไข้แม้ทั้งโรงพยาบาลมีหมออยู่คนเดียว เผยตรวจคนไข้วันละ 120 คน เช้าตรวจ-บ่ายทำงานบริหาร ให้พยาบาลเวชปฏิบัติคอยดูแลคนไข้ต่อ แต่เปิดมือถือคอยให้คำปรึกษาตลอดเวลา

จากกรณีที่นางม้วน ถิ่นวิลัย ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.กาฬสินธุ์ ออกมาให้ข้อมูลเมื่อเร็วๆ นี้ว่าโรงพยาบาลเปิดใหม่ 4 แห่งใน จ.กาฬสินธุ์ คือ รพ.ดอนจาน, รพ.นาคู, รพ.ฆ้องชัย และ รพ.สามชัย มีปัญหาขาดแคลนแพทย์ โดยมีแพทย์ประจำโรงพยาบาลเพียงคนเดียว ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่นั้น

นพ.จารึก ประคำ

ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้ติดต่อไปยัง นพ.จารึก ประคำ ผู้อำนวยการ รพ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ เพื่อสอบถามปัญหาในการทำงาน โดย นพ.จารึก ให้ข้อมูลว่า บริบทของ รพ.ดอนจานนั้น เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอที่เปิดมาได้ประมาณ 3 ปีแต่ยังไม่มีตึกผู้ป่วยใน ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยนอก บุคลากรในปัจจุบันมีแพทย์ 1 คน พยาบาล 15 คน และเจ้าหน้าที่ตามแผนกต่างๆ แผนกละ 1 คน เช่น ชันสูตร แผนกยา แผนกกายภาพ ฯลฯ ซึ่งในส่วนของตนนั้นก็ต้องทำหน้าที่ทั้งการตรวจคนไข้และงานบริหารไปด้วย

ขณะที่คนไข้ที่ Walk in เข้ามารับบริการในแต่ละวันนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 120 คน ซึ่งความคาดหวังของประชาชนนั้น ต้องการให้โรงพยาบาลเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร ทำให้ รพ.ดอนจาน เปิดให้บริการได้ถึง 20.30 น. เท่านั้น หากประชาชนต้องการรับบริการหลังจากนี้ ต้องไปที่ รพ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 25 กิโลเมตรแทน เช่นเดียวกับการรักษาต่างๆ จะทำได้เพียงการผ่าตัดเล็ก ถ้าเป็นผ่าตัดใหญ่ต้อง Refer ไปที่ รพ.กาฬสินธุ์

นพ.จารึก กล่าวอีกว่า ระบบการทำงานของตนในแต่ละวันนั้น จะพยายามตรวจคนไข้ให้เสร็จในช่วงเช้าถึงบ่าย จากนั้นในช่วงบ่ายก็จะขึ้นมาทำงานด้านการบริหาร โดยให้พยาบาลเวชปฏิบัติคอยดูแลคนไข้ต่อ และตนจะเปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ในแต่ละสัปดาห์จะมีแพทย์จาก รพ.กาฬสินธุ์ มาช่วยตรวจคนไข้ประมาณสัปดาห์ละ 1-2 วัน หรือเดือนละ 4-5 วัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับภาระงานที่ รพ.กาฬสินธุ์ ด้วยว่ามีมากขนาดไหน ถ้างานเยอะก็มาไม่ได้

“ถ้ามีหมอมาช่วย ผมก็ขึ้นมาทำงานด้านบริหารได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ทิ้งคนไข้ ก็ต้องตรวจถึงเที่ยงๆ บ่ายถึงจะขึ้นมาทำงานบริหารได้ ถ้าได้หมอมาประจำอีก 1-2 คนก็จะดี ปกติโรงพยาบาลขนาดประชากร 2.5-3 หมื่นคน ควรมีหมอ 3 คนถึงจะเพียงพอในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แต่ของเราถ้าได้มาอีกสักคนก็คงพอเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงไหว รวมถึงถ้าได้ทันตแพทย์มาประจำด้วยก็จะดี เพราะตั้งแต่เปิดโรงพยาบาลมา ยังไม่มีทันตแพทย์มาอยู่เลย” นพ.จารึก กล่าว

นพ.จารึก กล่าวอีกว่า ในส่วนของงบประมาณที่ได้รับ ถือว่าค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย เนื่องจากรายได้หลักของโรงพยาบาลมาจากค่าเหมาจ่ายรายหัวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร ทำให้ต้องประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ว่าเปิดบริการได้ถึง 20.30 น. ประกอบกับ รพ.ดอนจานถือว่าอยู่ใกล้กับ รพ.กาฬสินธุ์ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งตามพื้นที่รอยต่ออำเภอ เลือกไปลงทะเบียนกับ รพ.กาฬสินธุ์ เป็นหน่วยบริการหลัก ทำให้งบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้ น้อยกว่าที่ควรเป็น

ทั้งนี้ ประชากรในพื้นที่รับผิดชอบนั้น มีประมาณ 2.5 หมื่นคน สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพประมาณ 1.9 หมื่นคน แต่ลงทะเบียนเลือก รพ.ดอนจานเป็นหน่วยบริการหลักประมาณ 1.3 หมื่นคน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดและมีภาระงานที่หนัก แต่ นพ.จารึก ยืนยันว่าไม่ท้อและไม่มีความคิดจะขอย้ายไปที่อื่น เพราะเห็นใจชาวบ้าน ถ้าตนย้ายออกไปก็คงยากที่จะหาหมอมาอยู่เนื่องจากพื้นที่ก็ถือว่ากันดารพอสมควร

“ถ้าผมจะไปที่อื่น ผมไปตั้งแต่ปีแรกแล้ว ตอนโรงพยาบาลเปิดใหม่ๆ แล้วเห็นข่าวว่าไม่มีหมอมาอยู่ ผมก็เสนอตัวมาอยู่ที่นี่เอง ก็คิดว่าถ้าเรามีโอกาสมาช่วยได้ก็อยากจะช่วย ก็เลยอาสามาช่วยพี่น้องชาวดอนจาน นอกจากนี้ยังมีกำลังใจจากผู้ใหญ่ อย่างท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ (สสจ.) นพ.พีระ อารีรัตน์ ท่านก็รับทราบปัญหาและมาเยี่ยมให้กำลังใจอยู่เสมอ ส่วนการแก้ปัญหาทางจังหวัดก็พยายามแก้ให้ แต่ติดขัดที่หมอจบใหม่มีไม่เพียงพอ และลาออกกันทุกปี พวกเราในโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่ง ก็เข้าใจในปัญหานี้ดี แต่ก็พร้อมสู้ต่อเพื่อพี่น้องประชาชนของเรา แล้วโอกาสข้างหน้าถ้ามีหมอจบมามากขึ้นก็จะได้มาช่วยตรงนี้” นพ.จารึก กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รพ.ดอนจาน กาฬสินธุ์ ขาดหมอขั้นวิกฤติ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา

กาฬสินธุ์ขาดแคลนแพทย์หนัก หมอจบใหม่แห่ลาออกหนีพื้นที่ห่างไกล

หมอรุ่นใหม่ ทำไมลาออก 'เงินไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่อึดอัดกับระบบ'

อีก 20 กว่าอำเภอยังขาดแคลนแพทย์ขั้นวิกฤติ สธ.ต้องโยกหมอ ODOD ข้ามจังหวัดไปช่วย