กระทรวงดิจิทัลฯ จับมือ สธ. เซ็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือยกเครื่อง Tele-Medicine ครอบคลุม รพศ./รพท. 116 แห่ง พร้อมตั้งเป้าใน 5 ปี เชื่อมเครือข่ายสื่อสารข้อมูลครอบคลุมโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ยึด 3 หลักการ สื่อสารภาพและเสียงแบบ HD สอดคล้อง Service Plan สธ. เชื่อมระบบส่งต่อจาก รพช.ไป รพท.โดยมีแพทย์รับผิดชอบทุกขั้นตอน
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การดำเนินการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2560 เพื่อบูรณาการด้านข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ เชื่อมเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐให้ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป เพิ่มประสิทธิภาพ Tele-Medicine ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดีอี เปิดเผยว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการด้านการสาธารณสุขกับประชาชน เป็นอีกภารกิจสำคัญที่กระทรวงฯจะเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยในปีแรก ทาง สรอ. จะจัดวางระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานรัฐ (Government Information Network: GIN) ให้ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป สังกัดงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 116 แห่ง โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า จะทำให้ครอบคลุมพื้นที่โรงพยาบาลสังกัดสธ.ทั่วประเทศให้สำเร็จ
นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมใช้งานของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งคุณภาพความเร็ว และความมีเสถียรภาพ มีโครงการขยายโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ไปยังชุมชนพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ซึ่งการสร้างระบบ Tele-Medicine ให้ประสบความสำเร็จจะสามารถดำเนินการได้โดย
1.ใช้เครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ (GIN) ในการสื่อสารข้อมูลภาพและเสียง
2.ใช้ระบบ VDO High definition (HD) ซึ่งมีความละเอียดสูงทั้งภาพและเสียง ช่วยให้แพทย์สื่อสารกันได้อย่างชัดเจน สนับสนุนให้การวินิจฉัยโรคมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
และ 3.ดำเนินงานสอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของ สธ. ซึ่งมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการส่งต่อผู้ป่วย (Refer) จากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ไปยังโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และมีแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบในทุกขั้นตอนตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในระบบการรักษา
นายพิเชฐ กล่าวว่า การพัฒนาระบบ Tele-Medicine ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะช่วยให้ลดปัญหาความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตรงกันระหว่างแพทย์ทั้งสองโรงพยาบาล ด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน รวดเร็ว ทันต่อการตัดสินใจที่มีผลต่อชีวิตของผู้ป่วย เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการให้แก่ประชาชนในทุกระดับและครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ณ โรงพยาบาลชุมชน เสมือนรับการรักษา ณ โรงพยาบาลทั่วไป ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ลดระยะเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อรับการตรวจรักษา
นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ผ่านกระบวนการศึกษาทางไกลระหว่างแพทย์ประจำโรงพยาบาลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิกในสังกัดสธ. และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ (eHealth Strategy) โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาทุนมนุษย์ด้าน eHealth และเทคโนโลยีสารสนเทศการจัดการความรู้ด้านการแพทย์และสุขภาพสำหรับประชาชน ที่มีกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสาธารณสุขด้าน Health IT
ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้บริหารจัดการระบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ รวมถึงองค์ความรู้และการสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) สำหรับประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันสุขภาวะของตนเอง และสามารถดูแลตนเองไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยได้
"สธ.จะสนับสนุนความร่วมมือในทุกๆ เรื่อง ทั้งการผลักดันให้หน่วยงานในสังกัดฯ ใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่าย GIN การใช้ศูนย์กลางบริการภาครัฐฯ (GovChannel) เป็นช่องทางส่งต่อบริการสาธารณสุขถึงประชาชน รวมถึงการผลิตเนื้อหาความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ Digital Literacy ของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือในการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Tele-Medicine) ที่จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ที่เดินทางยากลำบากกว่าจะถึงโรงพยาบาล ให้ได้รับบริการที่ดีได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ที่สำคัญคือความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข" นพ.ปิยะสกล กล่าว
นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของ สรอ.คือการสนับสนุนระบบเครือข่าย GIN ให้ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งการวางโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้ นอกจากระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Tele-Medicine จะมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นแล้ว ยังทำให้การเชื่อมโยงทุกระบบของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปสามารถติดต่อในเครือข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วย รวมทั้งจะติดตั้งระบบสำรองและจัดเก็บข้อมูลกลาง (Storage and Backup) ขนาด 400 TB ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และอีก 400 TB ในปีงบประมาณถัดไป พร้อมด้วยแอปพลิเคชันในการบริหารจัดการ สำหรับสำรองข้อมูลผู้ป่วยและข้อมูลสำคัญของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนเพื่อรับ-ส่งต่อผู้ป่วย
นอกจากนี้ ในส่วนการสนับสนุนอื่นๆ จะประกอบด้วยการจัดหาอุปกรณ์และโปรแกรม (Platform) ให้รองรับระบบ Digital Literacy เพื่อใช้เป็นระบบฐานข้อมูลกลางของประเทศในการรวบรวมองค์ความรู้การรับรู้ด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (Health Literacy) สำหรับประชาชนในทุกรูปแบบ เช่น วิดีโอคลิป รูปภาพ เป็นต้น รวมถึงการเข้ามาปรับปรุงระบบ G-Chat หรือแอปพลิเคชันที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าให้สนับสนุนการสื่อสารสำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สรอ.ยังจะสนับสนุนระบบการประชุมทางไกลภาครัฐ (GIN Conference) เพื่อประยุกต์ใช้ในการทำระบบ Tele-medicine เพื่อให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถตอบโต้กันได้ทั้งภาพและเสียงในพื้นที่ต้นแบบระหว่างโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาประชาชน และยังสนับสนุนเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทักษะความรู้ เพิ่มศักยภาพด้าน Data Scientists, Data Analyst, Enterprise Architecture และ Information Security ให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านไอทีของกระทรวงสาธารณสุข
- 47 views