“หมอนวดตาบอด” ประเทศไทยติดอันดับโลก แต่ไม่ได้รับการส่งเสริม บางรายฝีมือชั้นเซียนกลับเป็นแค่ “ลูกจ้าง” รพ.สต. ถ้าจะสอบใบประกอบโรคศิลป์ต้องมา กทม.เท่านั้น ด้าน ผอ.มูลนิธิสุขภาพไทย เตรียมผลักดันตั้งสถาบันฝึกสอนรายภูมิภาค
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้อำนวยการมูลนิธิสุขภาพไทย เจ้าของรางวัล “อโชก้าเฟลโลว์” ประจำปี 2559 เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวหน้า 1 ใน 4 ของโลก ที่มีกฎหมายรับรองให้คนพิการทางสายตาสามารถสอบใบประกอบโรคศิลป์ หรือใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยด้านการนวดไทยได้ โดยนอกจากประเทศไทยแล้ว ในโลกยังมีประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม หากประเมินฝีไม้ลายมือแล้วประเทศไทยกับญี่ปุ่นค่อนข้างสูสีกันและนับเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ส่วนประเทศเกาหลีใต้และจีนยังค่อนข้างห่างชั้นทั้งในเรื่องระบบทฤษฎี การฝึกอบรม และทักษะในการปฏิบัติ
“ในเมื่อหมอนวดที่พิการทางสายตาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพได้ตามกฎหมายแล้ว แต่หน่วยบริการของรัฐยังไม่เปิดโอกาสเอื้อให้เขาใช้บทบาทเหล่านั้นอย่างเต็มที่และมีศักดิ์ศรี มีเฉพาะที่โรงพยาบาลนาทวี จ.สงขลา ที่รับหมอนวดพิการทางสายตาที่สอบได้ใบประกอบวิชาชีพเข้ามาทำงาน แต่ก็ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์แผนไทย ทั้งๆ ที่เขามีความรู้ระดับเป็นแพทย์แผนไทยแล้ว” นายวีรพงษ์ กล่าว
นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ใน จ.เชียงราย มีหมอนวดแผนไทยที่พิการทางสายตาซึ่งมีฝีมือระดับครูบาอาจารย์ มีใบประกอบโรคศิลป์ถูกต้อง และเป็นผู้ฝึกสอนให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ด้วย แต่กลับพบว่า รพ.สต.ไม่มีตำแหน่งงานให้กับหมอนวดรายนั้น ที่สุดแล้วก็ต้องใช้เงินจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาจ้างเขาในฐานะลูกจ้าง รพ.สต.
นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า การเรียนศาสตร์การนวดไทยก็เหมือนกับการศึกษาในระบบ คือสถาบันการศึกษาต้องมีมาตรฐานรองรับ แต่ข้อเท็จจริงในประเทศไทยก็คือทุกวันนี้มีโรงเรียนสอนนวดไทยให้กับคนพิการทางสายตาที่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพเพียง 6 แห่ง โดยทุกแห่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งหมด
“จากการไปพูดคุยในหลายพื้นที่ พบว่าคนพิการทางสายตาอยากให้มีการตั้งโรงเรียนสอนในภูมิภาคต่างๆ เพราะเขาเหล่านั้นมีอุปสรรคเรื่องการเดินทาง ฉะนั้นงานของผมในอีก 1-2 ปี คือจะผลักดันให้ระบบบริการของรัฐยอมรับคนพิการทางสายตาอย่างมีศักดิ์ศรี และให้เขาสามารถทำงานอยู่ในสถานพยาบาลนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่ และจะตั้งสถาบันสอนนวดตามภูมิภาคต่างๆ ให้ได้อย่างน้อยๆ 4-5 แห่ง” นายวีรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ว่าจะตั้งสถาบันได้รับการรับรองมาตรฐานใน จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น จ.สงขลา จากนั้นจะเชื่อมต่อกับระบบของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งหากส่งเด็กพิการทางสายตามาเรียนในโรงเรียนที่มีมาตรฐาน ก็จะต่อยอดสู่การสอบใบประกอบโรคศิลป์ได้มากขึ้นในอนาคต
- 173 views