บอร์ด สปสช.เคาะงบเหมาจ่ายรายหัว ปี 61 จำนวน 1.64 แสนล้านบาท เฉลี่ย 3,374 บาท/ประชากร จากผู้มีสิทธิ์ 48.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 60 จำนวน 1.29 หมื่นล้านบาท เฉลี่ย 224.47 บาทต่อประชากร ปัจจัยจากต้นทุนบริการ ปริมาณการรับบริการ ขอบเขตบริการและนโยบายเพิ่มขึ้น หลังหักเงินเดือน 4.3 หมื่นล้านบาท คงเหลืองบสู่กองทุน 1.2 แสนล้านบาท เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา พร้อมเสนอกรอบงบประมาณปี 62 พิจารณาควบคู่ จำนวน 1.7 แสนล้านบาท เพื่อความต่อเนื่องจัดเตรียมงบประมาณปีถัดไป
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบ “ข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 และกรอบงบประมาณปี 2562” โดยการจัดทำข้อเสนอนี้เป็นไปตามมติ บอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่ให้นโยบายจัดทำงบประมาณกองทุนฯ ปี 2561-2562 เชื่อมโยงกับทิศทางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ผลการรับฟังความเห็นผู้ให้บริการและผู้รับบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แผนยุทธศาสตร์การสาธารณสุข 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2560-2564 ซึ่งหลังจากนี้บอร์ด สปสช.จะนำเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 ได้เสนองบประมาณจำนวน 164,675.24 ล้านบาท หรือ 3,374.70 บาทต่อประชากร คำนวณประชากรผู้มีสิทธิ์ 48.797 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 12,904.56 ล้านบาท หรือ 224.47 บาทต่อประชากร คิดเป็นร้อยละ 8.5 ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้ต้องปรับเพิ่มงบกองทุนฯ ในปี 2561 นี้ เป็นผลจากต้นทุนบริการ ปริมาณการใช้บริการ และขอบเขตการบริการรวมถึงนโยบายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งงบประมาณดังกล่าวเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรจำนวน 43,828.28 ล้านบาท คงเหลือเป็นงบประมาณที่เข้าสู่กองทุนฯ จำนวน 120,846.96 ล้านบาท
ส่วนงบประมาณนอกเหมาจ่ายรายหัว นำเสนอรายละเอียดดังนี้
1.งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,418.20 ล้านบาท
2.งบบริการสาธารณสุขไตวายเรื้อรัง จำนวน 8,332.32 ล้านบาท
3.งบบริการสาธาณสุขเพื่อควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง 1,356.46 ล้านบาท
4.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490.29 ล้านบาท
5.ค่าบริการสาธาณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1,159.20 ล้านบาท
รวมเป็นงบประมาณนอกเหมาจ่ายรายหัวทั้งสิ้น 15,756.47 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 1,754.13 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.5 จากปัจจัยต้นทุนการบริการ ปริมาณการใช้บริการ และขอบเขตบริการและนโยบายที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีค่าบริการกรณีผลงานปี 2556-2559 เกินเป้าหมายที่ได้รับงบประมาณอีกจำนวน 4,312.50 ล้านบาท
ทั้งนี้หากรวมงบประมาณกองทุนฯ ทั้งหมดในปี 2561 ทั้งงบเหมาจ่ายรายหัว งบนอกเหมาจ่ายรายหัว และงบค่าบริการกรณีผลงานปี 2556-2559 รวมเป็นจำนวนงบประมาณที่เสนอทั้งสิ้น 184,744.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 จากปี 2560
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับการจัดทำงบประมาณกองทุนฯ ในปี 2561 ได้มีการจัดทำที่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2560 อาทิ ปรับงบประมาณสำหรับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน (EMCO) สีแดง จากการจ่ายด้วยดีอาร์จี เป็นการจ่ายตามราคากลาง (Fee schedule) จำนวน 4.48 บาท/ประชากร, รายการวัณโรคเน้นขยายการค้นหาไปยังกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้ต้องขัง, ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เพิ่มอัตราการใช้ยาสมุนไพรในสถานพยาบาลเป็น 2 เท่าจากผลบริการเดิม วงเงิน 0.35 บาท/ประชากร, เพิ่มรายการค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว สอดคล้องกับมาตรา 258 ในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เน้นบริการในเขตเมืองใหญ่ จำนวน 240 ล้านบาท, ปรับประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการ 3 รายการ ได้แก่ บริการไตวายเรื้อรัง, บริการหัตถการขยายหลอดเลือดหัวใจ และบริการเปลี่ยนข้อเข่า เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนการบริหารงบประมาณตามประกาศ กสธ.ที่ออกตามคำสั่ง คสช.ที่ 37/2559 อาทิ เพิ่มงบสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 10 บาท/ประชากร และเพิ่มเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการ จำนวน 0.02 บาท/ประชากร
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ บอร์ด สปสช.ได้นำเสนอกรอบงบประมาณปี 2562 ควบคู่พร้อมกับงบปี 2561 โดยนำเสนอกรอบงบประมาณจำนวน 170,680 ล้านบาท หรือ 3,480.99 บาทต่อประชากร คำนวณประชากรผู้มีสิทธิ์ 49.032 ล้านคน เพิ่มจากปี 2561 จำนวน 106.29 หรือร้อยละ 3.1 หลังหักเงินเดือนบุคลากรจำนวณ 45,425.95 ล้านบาท เหลืองบเข้าสู่กองทุนฯ 125,254.05 ล้านบาท ขณะที่งบนอกเหมาจ่ายรายหัว ทั้งงบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ งบบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และงบบริการสาธารณสุขเพื่อควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง เป็นต้น ได้มีการนำเสนอกรอบงบประมาณอยู่ที่ 16,878.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 1,121.73 บาท รวมข้อเสนองบประมาณกองทุนฯ ทั้งหมดในปี 2561 ทั้งสิ้น 187,558.19 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องและเตรียมงบประมาณบริการสุขภาพประชาชนในปีถัดไป
- 3 views