“นพ.สุวิทย์” แนะ รัฐบาล-สธ.อย่าขวางภาคเอกชนทำธุรกิจสุขภาพ เพราะผลวิจัยชี้ชัดว่าไม่ทำให้เกิดภาวะสมองไหล-ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ เสนอให้ปรับบทบาทมาเป็นผู้สร้างความเป็นธรรม จัดเก็บภาษีจากเศรษฐกิจโตมาพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ประเทศไทยยุค 4.0 ... พัฒนาแบบไหนที่ยั่งยืน” ซึ่งอยู่ภายใต้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2559 ตอนหนึ่งว่าหากต้องการนำเรื่องสุขภาพไปกำหนดเป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ ภาคเอกชนมีความต้องการหรือขอเพียงอย่างเดียวก็คืออย่าสร้างกฎเกณฑ์ที่มาจำกัดให้เขาเหล่านั้นทำธุรกิจไม่ได้ ภาคเอกชนไม่ได้ต้องการให้รัฐเข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุนอะไรมาก เพียงแต่อย่ามาบล็อกหรือขัดขวางเขา
นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า หากพิจารณาโครงการที่ภาคเอกชนทำเรื่องทัวร์การรักษาพยาบาล คือนำคนต่างชาติเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยจนประสบความสำเร็จนั้น ถามว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยไปสนับสนุนอะไรเขาหรือไม่ เขาไม่ได้ต้องการให้สนับสนุนอะไร เขาทำเองได้ เพียงแต่ขออย่างเดียวคือ สธ.อย่าไปขวาง
“ถามว่าขวางเขาคืออะไร ขวางเขาก็คือไปบอกเขาว่าเฮ้ยเอ็งไปทำอย่างนั้นแล้ว เดี๋ยวก็จะดูดหมอดูดพยาบาลไปหมด เมื่อก่อนผมไม่กล้าพูด แต่เวทีนี้เป็นครั้งแรกที่ผมจะขอพูดดังๆ สักครั้งหนึ่ง คือเรามีการคำนวณและมีการวิจัยมาแล้วว่าชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาในประเทศไทยมีแค่ 2 ล้านคนต่อปี จะไม่มากไปกว่านี้อีกแล้ว ซึ่งหากคิดเป็นแรงหมอ ก็เท่ากับ 10% ของหมอทั้งประเทศนี้ ถ้าผมเป็นหมอแล้วต้องทำงานเพิ่มอีก10% แต่มีรายได้เพิ่ม 2-3 เท่า เชื่อว่าไปถามหมอคนไหนก็เอา” นพ.สุวิทย์ กล่าว
นพ.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาก็ยังมีคนตั้งคำถามว่าโรงพยาบาลเอกชนดูดแต่แพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญไปอย่างเดียว ซึ่งข้อเท็จจริงก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น คือหากศึกษาเฉพาะแพทย์สวนหัวใจที่เชี่ยวชาญโดยการเทียบเคียงจำนวนคนต่างชาติที่มาไทยเพื่อสวนหัวใจกับแรงงานแพทย์สวนหัวใจในประเทศไทยทั้งหมด ก็จะพบว่าไม่เกิน 10% อีกเช่นกัน
ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยไม่ต้องกลัวเพราะมีการศึกษามาหมดแล้ว ควรปล่อยให้เอกชนทำไป ในขณะเดียวกัน สธ.ควรทำหน้าที่สร้างความเป็นธรรมอีกฝั่ง คือด้านหนึ่งให้เขาทำไป ให้เศรษฐกิจโตไป แต่อีกด้านหนึ่งเราก็ควรกระจายแพทย์ลงสู่ชนบทเพื่อความเป็นธรรม หรืออาจจะเก็บภาษีจากด้านเอกชนมาเป็นค่าใช้จ่ายด้านความเป็นธรรมก็ได้ คือเมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นเราก็อาจเก็บภาษีมาทำเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันหากปล่อยให้เศรษฐกิจโตต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการจัดการ ก็จะนำไปสู่สังคมที่รวยกระจุกจนกระจาย และไม่มีทางที่ประเทศไทยจะมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนได้อย่างแน่นอน ขอยืนยันว่าเรื่องสุขภาพประเทศไทยสามารถทำได้ เพราะเคยทำสำเร็จมาแล้ว
“แต่ละปีประเทศไทยมีการผลิตแพทย์เฉลี่ย 3,000 คน ถ้าเรามุ่งแต่จะผลิต ดีไม่ดีในอนาคตแพทย์ไทยอาจไม่มีงานทำเช่นเดียวกับในประเทศเม็กซิโกหรืออียิปต์ที่แพทย์ต้องมาขับแท็กซี่” นพ.สุวิทย์ กล่าว
นพ.สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวมีข้อเสนอเรื่องสุขภาพต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการ นั่นก็คือเลขาธิการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ควรไปหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปลัด สธ.เพื่อตอบให้ได้ว่ารูปธรรมด้านสุขภาพในไทยแลนด์ 4.0 คืออะไร และมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจอย่างไร
“เราต้องมองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของการลงทุน ไม่ใช่มองเป็นค่าใช้จ่าย คือมองว่าลงทุนด้านสุขภาพแล้วเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างไร และต้องตอบให้ได้ว่าเรื่องสุขภาพสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร” นพ.สุวิทย์ กล่าว
นพ.สุวิทย์ กล่าวถึงรูปธรรมในข้อเสนอว่า ตัวอย่างเช่นการทำเรื่องระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว คือทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ประกอบด้วย บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ควรมีความเสมอภาค แต่ไม่ใช่จะเท่ากันทุกอย่าง อาจมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานให้เท่ากันถึงขีดๆ หนึ่ง ส่วนจะเกินขีดนี้ไปแล้วไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร
“พอเกินขีดนี้แล้วใครมีตังค์แล้วอยากไปนอนห้องพิเศษหรือจ้างหมอพิเศษก็ปล่อยเขาไป แต่เจ็บไข้ได้ป่วยที่มีความจำเป็น ก็จำเป็นต้องได้เท่ากัน” นพ.สุวิทย์ กล่าว
- 12 views