ถอดแนวทางจัดบริการสุขภาพเขตเมืองกระทรวงหมอ “สร้างความเข้มแข็งของระบบปฐมภูมิ-เดินหน้ายกร่างกฎหมาย แพทย์ประจำตัวปชช.-ผุดสำนักคุมโรคเขตเมืองโดยเฉพาะ” รอง ผอ.รพ.กำแพงเพชร ชี้ 5 อุปสรรคขัดขวางการพัฒนาระบบสุขภาพคนเมือง
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2559 มีการจัดประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “มติ 8.3 ระบบสุขภาพเมือง : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” หัวข้อการรับฟัง (ร่าง) ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง (พ.ศ.2560-2570) ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 แนวคิดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
นพ.ไพฑูรย์ อ่อนเกตุ รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านการบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลกำแพงเพชร ในฐานะผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ในหลายๆ จังหวัดมีความเป็นเขตเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ การให้บริการสุขภาพในภาพใหญ่มักอยู่ภายใต้ความดูแลของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สังกัด สธ. โดยเมื่อพูดถึงเขตเมืองสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับที่แตกต่างกัน ได้แก่ 1.เมืองทั่วไป 2.เมืองใหญ่ อาทิ ขอนแก่น อุดรธานี เชียงใหม่ 3.ปริมณฑลและเขตพื้นที่พิเศษ ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น พื้นที่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือพัทยา ภูเก็ต 4.กทม.ที่มีความซับซ้อนมากที่สุด
สำหรับปัญหาการจัดระบบบริการสุขภาพเขตเมือง จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีปัญหาสำคัญ ได้แก่
1.ระบบปฐมภูมิของเขตเมืองยังมีความขาดแคลนเรื่องกำลังคนและขาดความเข้มแข็ง โดยพบว่าเขตเมืองมีทรัพยากรด้านสุขภาพมาก แต่กลับไปเน้นเฉพาะด้านการรักษาพยาบาล ทั้งที่เมื่อพิจารณาสถิติการให้บริการด้านสุขภาพกลับพบว่าเขตเมืองครอบคลุมน้อยกว่าชนบท เนื่องจากการเข้าถึงเรื่องการส่งเสริมและป้องกันของเขตเมืองทำได้ยากกว่าเขตชนบท
2.ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างรัฐและเอกชน เพราะเมื่อมีหน่วยงานหลายสังกัด หลายหน่วยงานก็จะดูแลเฉพาะเรื่องของตัวเอง จึงไม่มีการรวบรวมข้อมูลไว้ที่ส่วนกลาง
3.การเชื่อมต่อระบบบริการและการส่งต่อระหว่างหน่วยบริการต่างสังกัดยังไม่สมบูรณ์ โดยในพื้นที่เดียวกันกลับพบว่าภาคเอกชนเตียงว่างแต่ภาครัฐบาลเตียงล้น ฉะนั้นโจทย์คือจะเชื่อมโยงการจัดบริการอย่างไร
4.ยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ซึ่งพบว่าภาคเอกชนหลายแห่งต้องการอยากเข้ามาร่วมดูแลสุขภาพเขตเมือง เพราะทราบถึงปัญหาของภาครัฐและภาระงบประมาณที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนอะไรใหม่ๆ
5.ระบบการเงินการคลังยังไม่เอื้อต่อการจัดระบบบริการ คือการจ่ายเงินลงไปกับการจัดบริการไม่มีการสอดรับกัน
นพ.ไพฑูรย์ กล่าวถึงแนวทางการจัดระบบบริการสุขภาพเขตเมืองโดย สธ.ว่า เริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งของระบบปฐมภูมิ โดย สธ.ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ ขณะเดียวกันก็มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แต่หลังจากนี้คือจะทำอย่างไรที่จะดึงทุกภาคส่วน รวมถึงเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
“นอกจากนี้ สธ.ได้จัดทำนโยบายคลินิกหมอครอบครัว ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้คนไข้มีหมอประจำตัว คือหมอจะรู้ความเคลื่อนไหวของคนไข้ของตัวเอง ไม่ใช่เจ็บหูไปหาหมอหู เป็นหวัดไปหาหมออายุรกรรม สุดท้ายก็ได้ยากลับมาเยอะแยะไปหมด โดยเรื่องนี้มีความคืบหน้าอย่างมาก อยู่ระหว่างการเขียนกฎหมาย คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปี” นพ.ไพฑูรย์ กล่าว
นพ.ไพฑูรย์ กล่าวถึงแนวทางการจัดบริการต่อไปว่า ในส่วนของการควบคุมป้องกันควบคุมโรคในเขตเมือง เนื่องจากเมืองมีความหลากหลายและความแตกต่าง สธ.จึงดำเนินการตั้งสำนักใหม่ทำหน้าที่ควบคุมโรคในเขตเมืองโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องจัดการสิ่งแวดล้อมทำเมืองน่าอยู่ควบคู่กับการจัดการความปลอดภัย ทั้งเรื่องอุบัติเหตุหรือการจราจรที่คับคั่ง รวมถึงการมีส่วนร่วมและการออกนโยบายสาธารณะ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งทั้งหมดนี้ สธ.คิดว่าจะช่วยหนุนเสริมยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองโดยการมีส่วนร่วมให้เข้มแข็งขึ้น
อนึ่ง ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 เมื่อปี 2558 มีฉันทามติเรื่องระบบสุขภาพเขตเมือง การพัฒนาระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมใน 5ประเด็น ได้แก่
1.มอบหมายให้ สธ.เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองโดยการมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และสนับสนุนให้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
2.ขอให้ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพร่วมดำเนินการในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการสร้างและพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง สร้างความตระหนักเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพทุกกลุ่มวัย เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัวและชุมชน โดยผ่านกลไกต่างๆ ที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่
3.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันการศึกษา สนับสนุนการดำเนินงานการวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมืองอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมในทุกมิติของการพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมือง
4.ขอให้ สธ.เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงบประมาณ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนให้มีการศึกษากลไกด้านการเงินการคลังสุขภาพ เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพเขตเมือง อย่างมีประสิทธิภาพและให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้งผู้ให้บริการ ผู้ซื้อบริการ และผู้รับบริการ
5.ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10
- 25 views