รายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศพบว่าแรงงานหญิงข้ามชาติในภาคธุรกิจก่อสร้างและงานบ้านในประเทศไทยไม่ได้รับการคุ้มครองที่เท่าเทียม

เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล (18 ธันวาคม) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เสนอรายงานเรื่อง ตึกสูง ค่าแรงต่ำ: ประสบการณ์ของแรงงานหญิงข้ามชาติในภาคการก่อสร้างของไทย (High Rise Low Pay: Experiences of migrant women in the Thai construction sector) พบว่าการเลือกปฏิบัติในเรื่องค่าจ้าง ปัญหาด้านความปลอดภัย การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและการถูกกีดกัน คือประสบการณ์ที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ของแรงงานหญิงข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในภาคการก่อสร้างของไทย

แรงงานหญิงข้ามชาติในภาคธุรกิจก่อสร้างและงานบ้านของไทยมักจะเผชิญปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติอยู่เสมอและบ่อยครั้งไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงาน ในปัจจุบันแรงงานหญิงมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานข้ามชาติทั้งหมดที่มีเอกสารที่ทำงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พบว่าประสบการณ์ของแรงงานหญิงเหล่านี้ มักจะถูกกำหนดโดยเพศสภาพของตัวเองและมีความแตกต่างอย่างมากจากประสบการณ์ของแรงงานชาย 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับแรงงานหญิงข้ามชาติ 2 เรื่อง ได้แก่ ตึกสูง ค่าแรงต่ำ : ประสบการณ์ของแรงงานหญิงข้ามชาติในภาคธุรกิจก่อสร้างไทย ศึกษาข้อท้าทายอันเนี่องจากเพศสภาพที่แรงงานหญิงในภาคก่อสร้างประสบ เรื่องที่สอง แรงาน ผู้ช่วย ป้า แม่บ้าน? สภาพการทำงานและทัศนคติของแรงงานหญิงข้ามชาติในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เชื่อมโยงทัศนคติของสาธารณะที่ปรากฎในสื่อและทัศนคติของนายจ้างต่อสภาพการทำงานที่แรงงานข้ามชาติทำงานบ้านเผชิญ

การศึกษาดังกล่าวได้ศึกษาภาคการผลิตสองแบบที่แตกต่างกัน งานบ้านคือภาคแรงงานนอกระบบซึ่งมีแรงงานผู้หญิงทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ธุรกิจก่อสร้างเป็นภาคส่วนธุรกิจที่มีแรงงานชายทำงานอยู่จำนวนมากและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ของแรงงานหญิงข้ามชาติที่ทำงานในภาคธุรกิจทั้งสองภาคที่มีความแตกต่างกันนี้ มีปัจจัยที่สัมพันธ์กันหลายประการ 

ประการแรก งานที่ทำโดยผู้หญิงทั้งในภาคก่อสร้างและงานบ้านนั้นได้รับการประเมินค่าต่ำ โดยเห็นได้จากค่าจ้างที่ต่ำ จากจำนวนแรงงานหญิงข้ามชาติทั้งหมดที่ได้สำรวจพบว่าร้อยละ 90 ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แม้ว่าประเทศไทยได้ให้สัตาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียม ค.ศ.1951 แรงงานหญิงในภาคก่อสร้างเล่าให้ฟังว่าตนได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานผู้ชาย แม้ว่าจะทำงานประเภทเดียวกันก็ตาม มีเพียงหนึ่งในสามของแรงงานหญิงข้ามชาติที่ให้สัมภาษณ์ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในขณะที่แรงงานชายทั้งหมดที่ให้สัมภาษณ์ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ การถูกลดคุณค่าทางเศรษฐกิจ ยังทำให้แรงงานหญิงถูกลดคุณค่าทางสังคม โดยงานบ้านมักได้รับการปฎิบัติในฐานะที่ไม่ใช่งานและถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่ต้อง “เป็นคนช่วย” หรือ “เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว” ซึ่งเป็นการกันแรงงานหญิงออกจากการคุ้มครองสิทธิแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม ทั้งนายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้สัมภาษณ์เน้นว่างานบ้านในรูปแบบครอบครัวนั้นมีความเหมาะสมเชิงวัฒนธรรมสำหรับประเทศไทย สำหรับภาคธุรกิจก่อสร้าง นายจ้างเห็นว่าแรงงานหญิงเป็นแรงงานชั้นสองที่ถูกจ้างพร้อมกับสามีที่เป็นเป้าหมายหลักในการจ้างงาน ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วแรงงานหญิงหลายๆ คน ทำงานประเภทเดียวกับแรงงานชาย 

ประการที่สอง แรงงานหญิงข้ามชาติในภาคธุรกิจก่อสร้างและงานบ้านนั้นทำงานหนักเกินไปและไม่ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสมเพียงพอ แรงงานหญิงข้ามชาติที่ทำงานบ้านเล่าว่าตนต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน สำหรับแรงงานที่ทำงานด้านการดูแลนั้นต้องทำงานโดยเฉลี่ย วันละ 13.5 ชั่วโมง เกือบหนึ่งในสี่ของแรงงานทำงานบ้านที่ให้สัมภาษณ์เล่าว่าไม่ได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์ แม้ว่ากฎหมายไทยกำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 1 วัน สำหรับภาคธุรกิจก่อสร้าง แรงงานหญิงข้ามชาติหลายรายต้องทำงานหนักและกลัวว่าจะได้รับบาดเจ็บในสถานที่ก่อสร้าง มีนายจ้างจำนวนไม่มากนักที่จัดอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่เพียงพอต่อแรงงานทุกคน 

ข้อจำกัดในการคุ้มครองและการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกันสังคมทำให้แรงงานหญิงข้ามชาติทั้งในภาคธุรกิจก่อสร้างและงานบ้านไม่ได้รับความคุ้มครอง แรงงานทำงานบ้านไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการลาคลอด และไม่ได้รับการคุ้มครองจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากการตั้งครรภ์ แม้ว่าแรงงานในภาคธรุกิจก่อสร้างจะได้รับการคุ้มครองดังกล่าว แต่นายจ้างในธุรกิจก่อสร้างมีการเลิกจ้างเนื่องจากแรงงานตั้งครรภ์ แรงงานหญิงที่ให้สัมภาษณ์ทุกคนไม่ได้รับการคุ้มครองในการลาคลอดและรายได้ระหว่างลาคลอด

การศึกษาเรื่อง ตึกสูง ค่าจ้างต่ำ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยและนายจ้างในการแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในด้านเอกสารของแรงงานข้ามชาติที่มีอัตราค่อนข้างสูง และรับรองให้แรงงานข้ามชาติได้รับค่าจ้างอย่างน้อยตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย จัดให้มีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่เพียงพอและปรับปรุงมาตรฐานที่พักของแรงงาน รานงานการศึกษานี้เสนอให้มีการคุ้มครองแรงงานหญิงข้ามชาติในเรื่องค่าจ้างที่ดีขึ้น

การศึกษาเรื่อง แรงาน ผู้ช่วย ป้า แม่บ้าน? ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสาธารณะต่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบ้าน และที่สำคัญอย่างยิ่ง งานบ้านจะต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นงานและได้รับการคุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์จากการประกันสังคมที่เท่าเทียมกับงานในภาคการผลิตอื่นๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก ILO องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ